...Hallyu began roughly 12 years ago when the rest of Asia discovered Korean soap operas. One of the breakthrough dramas was a series 'Winter Sonata' starring Choi Ji-woo & Bae Young-Joon. After that, more Korean dramas saw their way to foreign shores and Korean films and music started to follow suit. Korean marketing people started to see a Korea-centric trend. They dubbed this flow "The Korean Wave" or Hallyu....
3.2.09
Korean Wave = Capitalization
ถอดบทเรียน "เกาหลีภิวัตน์" ทุนวัฒนธรรมกู้วิกฤตเศรษฐกิจ
4-5 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ "โคเรียน เวฟ" (Korean Wave) ที่ระบาดไปทั่วเอเชียผ่านสินค้าวัฒนธรรม ทั้งละคร ภาพยนตร์ เพลง เกม รวมถึงอาหารเกาหลี การท่องเที่ยว และสินค้าอื่นๆ ของเกาหลี จนกลายเป็นที่คลั่งไคล้ของ คนทั่วเอเชีย แม้แต่ในญี่ปุ่นที่เคยมีความขัดแย้งกันในอดีต ทำให้หลายประเทศในเอเชียจับตามองโมเดล "วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ" ของเกาหลีที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าอิจฉา
ทั้งที่เกาหลีไม่ใช่ต้นตำรับการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้ทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ต่างก็เคยใช้แนวทางนี้มาก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้สร้างกระแสฟีเวอร์จนกลายเป็นที่กล่าวขานได้เหมือนอย่างเกาหลี
กลุ่มจับกระแสเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความน่าสนใจของยุทธศาสตร์วัฒนธรรมของเกาหลี จึงได้จัดสัมมนาในหัวข้อ "เกาหลีภิวัตน์ : ธุรกิจ วัฒนธรรม และบันเทิงคดี" ขึ้น
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งจัดทำงานวิจัยเรื่อง "คลื่นวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี : โฉมหน้าทุนวัฒนธรรมเอเชีย" ระบุว่า คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญแต่อย่างใด โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งหลายประเทศในเอเชียที่ประสบปัญหาดังกล่าวล้วนต้องปรับตัวรับกับทุนโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมเข้ามา และการใช้โมเดลทุนวัฒนธรรมก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับเป้าหมายทางการเมืองและวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ในด้านเศรษฐกิจ โมเดลนี้มีส่วนช่วยฟื้นอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีให้กลับมาขยายตัวท่ามกลางภาวะซบเซา และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนในด้านการเมืองและวัฒนธรรม โมเดลนี้เปรียบเสมือน "ทุนวัฒนธรรม" ในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกาหลี ขณะเดียวกันยังเป็นการป้องกันการครอบงำจากวัฒนธรรมพ๊อปญี่ปุ่น ที่เคยได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นเกาหลีอย่างสูง
รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีมีบทบาทในการวางนโยบายและจัดทำแผนปฏิบัติการ ทั้งในระยะ 5 และ 10 ปี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของเกาหลี โดยปัจจัย ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดจากบรรยากาศที่เปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้น การยกเลิกระบบเซ็นเซอร์ และการที่ภาครัฐ มีนโยบายส่งเสริมทุนวัฒนธรรมอย่างจริงจัง
รัฐบาลเกาหลีได้จัดสรรงบประมาณ จำนวนมากในการส่งเสริมเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่เป็นการลงทุนด้านบุคลากรของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมในระยะยาว โดยส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนลงทุนจัดตั้งคณะหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ การผลิตภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง การออกแบบ ฯลฯ ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหน่วยงาน KOCCA (Korea Culture and Content Agency) ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสินค้าวัฒนธรรมของเกาหลีอย่างเต็มที่อีกด้วย
คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเอเชียภิวัตน์ (Asianization) ของทุนวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่เหมือนกองหน้าของทุนนิยมเอเชีย ซึ่งเป็นทั้งนักการตลาด และทูตวัฒนธรรมไปในเวลาเดียวกัน
น่าสังเกตว่า ทุนวัฒนธรรมเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการส่งออก ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงทางเดียว เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวคิดว่า วัฒนธรรมไม่ได้มีไว้ขาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งต่างกับเอเชียตะวันออกที่สามารถใช้โมเดลวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจมาทำให้เกิดการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม
นายจิรัฐ บวรวัฒนะ รองประธานบริษัท โรส มีเดีย แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์ มองว่า วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้าเกาหลี ทำให้แบรนด์เกาหลีจำนวนมากได้รับความนิยม เพราะเป็นการก้าวข้ามจากการซื้อด้วยเหตุผล (rational) ไปสู่การซื้อด้วยอารมณ์ (emotional)
ด้าน นางสาวสุวรรณี ศักดิ์กำจร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทชาร์มทัวร์ กล่าวว่า กลยุทธ์ของเกาหลีที่นำเอาวัฒนธรรมมาลดความขัดแย้งเป็นเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น เพราะสองประเทศนี้มีความใกล้ชิดกันมาก และญี่ปุ่นก็เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง แต่สองประเทศนี้เคยมีความขัดแย้งกันมาในอดีต ถึงขนาดที่สินค้าเกาหลีขายในญี่ปุ่นแทบไม่ได้ แต่การที่เกาหลีปรับโฟกัสมาที่สินค้าวัฒนธรรมกลับทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะศิลปินเกาหลีสามารถขายได้โดยไม่ถูกต่อต้าน
ถอดรหัส Korean wave จุดกระแสคลั่ง "เกาหลี" ยุทธศาสตร์ value creation ที่น่าตะลึง !!
คอลัมน์ โฟกัส นิว เทรนด์
แม้กระแส "เกาหลีฟีเวอร์" ไม่ใช่ของใหม่ในสังคมไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจนั่นคือ มันกำลังทวีความแรงอย่างจับตามอง มันไม่ได้เกิดจากความเห่อเพียงอย่างเดียว แต่มันมาจากยุทธศาสตร์ที่แยบยล !
นับแต่ละครเกาหลีโผล่โทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2543 จากนั้นหลายสิ่งหลายอย่างก็ไหลตามมา
ทั้งภาพยนตร์ เรียนภาษา อาหาร เกมออนไลน์ ท่องเที่ยว ล่าสุดวรรณกรรมแปลเกาหลีกำลังเข้ามาตีตลาดเป็นพายุบุแคม
เกิดภาพชัดเจนอย่างยิ่งที่กลุ่ม K-POP กลุ่มชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลี พวกเขาบริโภคตั้งแต่ละคร ภาพยนตร์ เพลง เรียนภาษา การแต่งตัวกำลังเติบโต
"วันนี้กลุ่ม K-POP มาแรงและใหญ่กว่ากลุ่ม J-POP ทั้งๆ ที่ดารา นักร้องญี่ปุ่นเข้ามานานกว่าเกาหลีมาก เฉพาะที่เว็บไซต์ตั้งแต่เปิดเมื่อปี 2545 จนขณะนี้จะเห็นว่าตัวเลขความนิยมดารานักร้องเกาหลีสูงขึ้นมาก จากวันละ 400-500 คนวันนี้มีคนเข้าชมเว็บไซต์ถึงวันละ 3,000-4,000 คนที่เข้ามาอัพเดตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับดาราที่พวกเขาชื่นชอบ" ประภัสสร อมรเลิศพานิช เจ้าของ www.jkdramas.com เว็บไซต์ข้อมูลดารานักร้องญี่ปุ่น-เกาหลีกล่าว
วันนี้หากเดินตามริมถนนในเซี่ยงไฮ้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะได้ยินเพลงเกาหลีร้องในภาษาจีนแมนดารินกระหึ่มดัง
ที่ฮานอยสาวๆ ชาวเวียดนามเด็กหน้าเข้มแบบ "เกาหลีลุก" เดินกันขวักไขว่
หากผ่านไปในตลาดเมียนมาร์สิ่งที่จะต้องพบแน่ๆ คือ ลูกเด็กเล็กแดง กระทั่งผู้ใหญ่ ต้องพูดคุยเรื่องละครโทรทัศน์เกาหลีที่ได้ชมเมื่อคืนก่อน
กระทั่งในญี่ปุ่นเองอัลบั้มเพลงของ "โบ ฮา" ศิลปินเกาหลีกลายเป็นอัลบั้มยอดนิยมอันดับ 1
และเกาหลียังกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์นิยมไปกันมากเป็นอันดับต้นๆ
สำหรับในไทยแล้วนับแต่ละครโทรทัศน์เรื่องแรกเข้ามาในปี 2543 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในชื่อ "ลิขิตแห่งรัก" แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จมากแต่ก็สร้างแฟนละครได้ในระดับหนึ่ง
เพียงแค่ปีเดียวก็ประสบความสำเร็จและจุดกระแส "เกาหลีฟีเวอร์" ด้วยละครเรื่อง "ออทัม อิน มาย ฮาร์ท" ที่ฉายทางสถานีไอทีวีในปี 2544 ก่อนที่จะตอกย้ำกระแสความนิยมด้วยภาพยนตร์เรื่อง "มาย แซสซี่ เกิร์ล" และแรงขึ้นเป็นลำดับในปัจจุบัน
ประภัสสรเล่าว่า "เสน่ห์ของละครและภาพยนตร์เกาหลีอยู่ที่ความเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เนื้อหามีการหักมุม บางเรื่องมีกลิ่นอายคล้ายๆ ละครไทย แต่การถ่ายทำจะเป็นธรรมชาติและใช้ โลเกชั่นตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามของเกาหลี ซึ่งชักจูงใจให้ทัวร์ท่องเที่ยวตามรอยละครเกาหลีได้รับความนิยมมาก"
จากความชมชอบละครขยายวงไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และยังแรงไปถึงทำให้อาหารประจำวันอย่างกิมจิได้รับความนิยมไปด้วย โดยกลุ่ม K-POP ในระดับฮาร์ดคอร์มักมีการนัดพบเพื่อสังสรรค์กันตามร้านอาหารเกาหลี โดยที่พ็อปที่สุดเป็นโคเรียทาวน์ สุขุมวิท 12แหล่งชุมนุมของชาวเกาหลีในไทย
"กลุ่ม K-POP ไม่เพียงแต่จะบริโภคสื่อ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะเลือกซื้อสินค้าเราก็มักจะเลือก แบรนด์เกาหลีด้วย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือจนถึงอาหารการกิน อย่างมาม่า สาหร่าย" เจ้าของเว็บไซต์ www.jkdramas.com กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นแรงกระเพื่อมทางวัฒนธรรมที่เกิดจาก "Korean wave" หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี
เจสซิกา คัม รองประธานทีวี เน็ตเวิร์ก เอเชีย กล่าวว่า "เกาหลีจะเป็นธงต่อไปในวัฒนธรรมพ็อปของเอเชีย"
แน่นอนว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบังเอิญ "ประชาชาติธุรกิจ" ย้อนกลับไปดูข้อมูลและพบนัยสำคัญหลายประการของวามสำเร็จนี้ !!
แม้หลายคนจะมองว่าการรุกทางวัฒนธรรมของเกาหลีอาจจะเป็นการเดินตามชาติมหาอำนาจ เฉกในโมเดลเดียวกับความสำเร็จของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น หากแต่มีมุมมองของนักวิชาการผ่านงานวิจัย "Korea as the wave of the future" มองว่า ความสำเร็จของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของเกาหลีไม่ได้แตกต่างอะไรกับกรณีความสำเร็จของการผ่องถ่ายวัฒนธรรมอเมริกัน เฉกเดียวกับฮอลลีวูด และการสร้างวัฒนธรรมพ็อปในเอเชียของญี่ปุ่นที่สามารถรุกคืบโดยภาคธุรกิจ หากแต่กรณีของเกาหลีรัฐบาลมีความเข้าใจและผลักดันให้วัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเช่นที่เป็นอยู่
จึงอาจถือได้ว่าเกาหลีเป็นผู้นำในการปรับปรุงนโยบายด้านเศรษฐกิจด้วยการสร้างความสำเร็จด้วย "พ็อปคัลเจอร์"
ในรายงานชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์ "อาซาฮีชิมบุน" ระบุถึงความสำเร็จนี้ว่า "เกิดจากการสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ถึงกับมีการเปิดโรงเรียนสร้างผู้กำกับฯเพื่อสร้างคนรองรับในอุตสาหกรรมบันเทิงโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปี 2544 รวมถึงผลิตบุคลากรด้านตลาดต่างประเทศโดยนักเรียนจะถูกส่งไปดูงานในงานนิทรรศการ ละครและภาพยนตร์ต่างๆ ที่คานส์ และประเทศในเอเชีย" จากนั้นในปี 2545 รัฐบาลเกาหลีกำหนดนโยบาย 5 ปีที่จะเริ่มให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมวงการโทรทัศน์
ความอ่อนแอของละครโทรทัศน์ญี่ปุ่น และการเดินมาถึงทางตันของฮอลลีวูดที่เห็นได้ชัดจากการที่มีผู้กำกับฯหลายคนเข้ามาซื้อบทภาพยนตร์จากเอเชียไปผลิตภาพยนตร์ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกาหลีจะสามารถขึ้นมายืนเทียบเคียงมหาอำนาจทางวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศได้ไม่ยาก
ในสายตาผู้เชี่ยวชาญมองว่า "ความสำเร็จของการทำให้วัฒนธรรมของเกาหลีกลายมาเป็นแมสคัลเจอร์ของเอเชียได้จากการเกิดงานที่มีคุณภาพ คือทั้งคุณภาพการผลิต การแสดงที่เป็นธรรมชาติ และการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดเฉพาะกลุ่มที่ชัดเจน"
ดร.ดำรงค์ ฐานดี ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายว่า สาเหตุที่เกาหลีหันมารุกทางวัฒนธรรมนั้นเนื่องจากมองว่าการทำให้เกาหลีเป็นที่รู้จักจะทำให้คนทั่วโลกซื้อสินค้าที่ส่งออกมายังเกาหลีมากขึ้น รวมทั้งไปท่องเที่ยวยังเกาหลีมากขึ้น ซึ่งก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ถูกกำหนดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในตอนปลายทศวรรษที่ 2530 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ส่งเสริมให้เร่งขยายอุตฯทางวัฒนธรรม (cultural industry) ให้มีความแข็งแกร่ง และในสมัยของรัฐบาล "คิม แด จุง" ที่ได้ประกาศนโยบายเสริมสร้างวัฒนธรรมพื้นฐานปี 2544
เช่นการเร่งก่อสร้างศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ที่เขตโซควาน มหาวิทยาลัยโซลแห่งชาติ ขยายศูนย์ศิลปะแห่งกรุงโซล และศูนย์ศิลปะพื้นเมืองแห่งชาติ ปรับปรุงศูนย์วัฒนธรรมกษัตริย์ เซจองและโรงละครแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซลให้มีความทันสมัย ฯลฯ โดยตั้งเป้าให้เกาหลีเป็นเมืองวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล
มากกว่านั้นกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวยังทุ่มเงินกว่า 5 หมื่นล้านวอน เพื่อทำภาพยนตร์สารคดี ซอฟต์แวร์ สิ่งพิมพ์ ดนตรีและข้อมูลต่างๆ กับประเทศเกาหลีเพื่อเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก และให้ปี 2544 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวของเกาหลีด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปีเพื่อเป้าหมายสูงสุดที่มีต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเผยแพร่สินค้าเกาหลีสู่ตลาดโลก ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงชัดเจนว่าเกิดจากยุทธศาสตร์และการส่งเสริมที่ชัดเจนจากรัฐบาลเป็นหลัก
แต่ในอีกด้านหนึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจ ผู้เชี่ยว ชาญด้านเอเชียคนหนึ่งเชื่อว่า "คนรุ่นใหม่ของเกาหลีอยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ การสร้างสรรค์และจินตนาการที่ล้นเปี่ยมทำให้ผู้นำประเทศสามารถค้นพบความคาดหวังใหม่ทางเศรษฐกิจ"
ในสมุดปกขาวที่รายงานถึงอุตฯวัฒน ธรรมของเกาหลีในปี 2546 ซึ่งตีพิมพ์โดยกระทรวงวัฒน ธรรมฯคาดการณ์ว่า อุตฯวัฒนธรรมของเกาหลีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.6% ของจีดีพี ขณะที่จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยคาดว่าจะมีมากถึง 200,000 คนในปี 2551 และคาดว่าจะสามารถส่งออกสินค้าวัฒนธรรมไปยังต่างประเทศได้มากถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งยังตั้งเป้าว่าเกาหลีจะเป็น 1 ใน 3 ของโลกในปี 2550 ในการแย่งคว้าเค้กก้อนใหญ่ของแวดวงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของโลกที่มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
นี่คือเป้าหมายจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในโลกวัฒนธรรม ที่คนต้องติดตามแบบห้ามกะพริบตา
และน่าศึกษาว่ายุทธศาสตร์ value creation เฉกเช่นนี้เมืองไทยทำได้หรือไม่ ?
"Hallyu” คลื่นความมั่งคั่งของเกาหลี
ในยุค Globalization โลกไร้พรมแดนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมข้ามพรมแดน นำมาซึ่งการหลั่งไหลของสินค้าและวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง จากซีกโลกหนึ่งสู่อีกซีกโลกหนึ่ง กระแส “Americanization” ที่เคยเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อน อาจกล่าวได้ว่าคือตัวอย่างแรกๆ ของกระบวนการขายสินค้าผ่านการแทรกซึมของวัฒนธรรมอเมริกัน โดยมี “Hollywood” Product เป็นตัวนำร่อง
เมื่อลมพัดหวนกลับมายังฝั่งตะวันออก วัฒนธรรมเอเชียกลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ “จีน” พี่ใหญ่แห่งเอเชียดูจะเป็นตัวเต็ง เพราะเป็นรายแรกของเอเชียที่เริ่มแผ่ขยายวัฒนธรรมจีนผ่านหนังละครส่งออกไปประเทศต่างๆ แต่ทว่าก็ยังไม่ใช่ตัวจริง มาถึงกระแส J-Trend ที่มาแรงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สร้างมูลค่าและค่านิยมอันดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นได้มาก แต่ก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
จนกระทั่งกระแส “Hallyu” จากประเทศเล็กๆ ที่ UNESCO เคยจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนเมื่อหลายสิบปีก่อน ประเทศที่มีผ่านสงครามซ้ำแล้วซ้ำอีกจนต้องจมอยู่กับประวัติศาสตร์อันขื่นขมมานานหลายสิบปี แต่ทว่าวันนี้ “Hallyu” หรือ Korean Wave คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่ถูกส่งออกไปผงาดอยู่ทั่วโลก ทำให้ “พี่ใหญ่” หลายประเทศต้องหันมามองประเทศเล็กๆ อย่าง “เกาหลี” ในมุมใหม่
Rebirth of “Hallyu”
“Hallyu” หรือ Korean Wave หรือก็คือ วัฒนธรรม K-pop ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะละครและหนังเกาหลีที่ได้รับการยอมรับจากคนดูได้ทุกชาติทุกภาษา และสร้าง “ดีมานด์สูง” อยู่ในตลาดโลก โดยเริ่มต้นจากชนชาติเอเชียด้วยกัน ข้ามฝั่งไประบาดยังฝั่งตะวันตกทั้งยุโรป และอเมริกา และไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศ “มุสลิม” อย่างตะวันออกกลาง
Korean Wave เกิดขึ้นครั้งแรกในปลายยุค 90 โดยจีนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Hallyu” ที่ใช้หมายถึง ปรากฏการณ์ความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีที่มาจากอิทธิพลของสินค้าวัฒนธรรม K-pop ซึ่งได้แก่ เพลง ละคร หนัง เกม นิยาย การ์ตูน แอนิเมชั่น ฯลฯ โดยเริ่มมาจากกิจกรรมของภาคเอกชนในการค้าขายทางวัฒนธรรมไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะหนัง ละคร และเพลงเกาหลี แต่กระแสที่เกิดขึ้นและรายได้มหาศาลที่กลับเข้าสู่ประทศ ทำให้รัฐบาลเกาหลีต้องกลับมาพิจารณานโยบายเสียใหม่
สำหรับจุดขายของสินค้า Hallyu หรือสินค้าวัฒนธรรมเกาหลี โดยเฉพาะหนังละคร และเพลงเกาหลีมาจากความสดใหม่ที่เป็นทางเลือกของตลาดโลก ในยามที่กระแส J-pop เริ่มน่าเบื่อ และลัทธิ Anti-American ขยายไปทั่วโลก
“Hallyu” VS. Economic Effect
มูลค่าการส่งออกละครของเกาหลีในปี 2547 อยู่ที่ประมาณ $ 71.46 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ถึง 69.6% และในปีเดียวกันนี้เอง ราคาขายลิขสิทธิ์ละครเกาหลีต่อ 1 ยูนิต (1 ยูนิต = ตอนละ 50 นาที) ทะยานจาก $ 2198 เหรียญ ขึ้นไปถึง $ 4046 เหรียญ คิดเป็น 84% ทั้งนี้เพราะ “ดีมานด์” ที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ภาพลักษณ์คุณภาพที่ดีของละครเกาหลี และกระแสนิยมในตัวนักแสดงเกาหลี ...เหล่านี้ล้วนแต่เพิ่มมูลค่าให้กับละครเกาหลี
สำหรับมูลค่าการส่งออกหนังเกาหลีในปี 2547 มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก $ 31 ล้านเหรียญ ไปอยู่ที่ระดับ $ 75 ล้านเหรียญ คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 141% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้ทั่วโลก หรือแม้แต่รัฐบาลเกาหลีต้องกลับมาพิจารณาทบทวนนโยบายการโปรโมตสินค้า Hallyu เสียใหม่
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของสินค้า Hallyu โดย Korea Interantional Trade Association’s Trade Research Institute บอกว่า ปีที่ผ่านมา สินค้า Hallyu ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในเกาหลีถึง $ 1 พันล้านเหรียญ ขณะเดียวกัน สินค้าเหล่านี้ยังนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่เกาหลีได้สูงถึง $ 1.87 พันล้านเหรียญ
นอกจากรายได้จากการส่งออกสินค้า Hallyu พูดได้ว่า กระแส Hallyu ตอนนี้ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยมีละคร หนัง และเพลงเป็นสื่อการตลาดในการโปรโมตวัฒนธรรม โดยมีนักร้องและนักแสดงเป็นทูตทางวัฒนธรรมคนสำคัญ เหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนช่วย “เปิดประตู” ทางการค้าในประเทศต่างๆ ที่กระแส K-pop ได้เข้าไปกรุยทางไว้ก่อนแล้ว จากนี้ก็รอเพียงแต่ว่า สินค้าใดของเกาหลีที่จะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์
ดังเช่น LG และ Samsung ที่มียอดขายสินค้าในประเทศจีนเพิ่มขึ้นถึง 40% ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่ “Winter Sonata” หรือ Winter Love Song ยังอยู่ในความประทับสาวใหญ่ชาวจีนหลายล้านคน หรืออีกกรณีที่ “กระแสแดจังกึม” กำลังนำเอาสินค้า Food Products และสินค้าเกษตรจากเกาหลี เข้าไปทะลักตลาดอาหารในญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นกำลังคลั่งไคล้แดจังกึมและอาหารเกาหลีอย่างมาก
ทั้งนี้ สินค้าหลักๆ ที่จะได้รับอานิสงส์จากกระแส Hallyu ที่ร้อนแรงในตลาดต่างประเทศมีหลากหลายประเภท เช่น สินค้าอาหาร – จากแดจังกึม การท่องเที่ยว – Drama Tour ธุรกิจศัลยกรรม เครื่องสำอาง แฟชั่น รถ ฯลฯ รวมถึง สินค้าอื่นๆ ที่จะบุกตลาดได้ง่ายขึ้น เพราะภาพลักษณ์ประเทศเกาหลีที่ดีขึ้นและความเข้าใจในวัฒนธรรมเกาหลีของผู้บริโภค
From “Winter Sonata” … to “Daejanggeum” Fever
อิทธิพลของกระแส Hallyu เริ่มต้นเห็นได้ชัดเมื่อ Winter Sonata สร้างรายได้และปรากฏการณ์ Korea Fever ในประเทศญี่ปุ่นขนาดที่ไม่มีใครจะนึกถึง เช่น
- NHK สามารถทำรายได้กว่า $ 100 ล้านเหรียญ ในปี 2546 จากการออกอากาศละครเรื่องนี้
- DVD ราคาชุดละแสนกว่าบาท ขายหมดทั้ง 3 แสนชุด ภายในปี 2545 ที่ละครเรื่องนี้เริ่มฉาย
- อัลบั้มเพลง Soundtrack ประกอบละครเรื่องนี้ราคา 750 บาท ขายได้ถึง 6 แสนแผ่นในช่วงนั้น
- สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับ Winter Sonata ขายได้ถึง 13 ล้านก๊อบปี้
- สถานี RTHK ของญี่ปุ่นถอดรายการสอนภาษาญี่ปุ่นออก เพื่อใส่รายการสอนภาษาเกาหลีแทน
เรียกว่า แค่ละครเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ทำให้เงินไหลจากประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่เกาหลีได้มากถึง $ 83 ล้านเหรียญ และทำให้แบ ยอง-จุน กลายเป็น Superstar ขวัญใจชาวญี่ปุ่น จนทำให้สื่อญี่ปุ่นให้ความสนใจกับข่าว แบ ยอง-จุน กับการแสดงนำในหนังเรื่อง April Snow มากกว่าข่าวพายุแคทรีน่าถล่มอเมริกา
สื่อเกาหลีและญี่ปุ่นลงความเห็นว่า Winter Sonata สามารถส่งเสริมความเข้าใจและสัมพันธ์อันดีระหว่างคนเกาหลีและคนญี่ปุ่น ได้มากกว่าการที่ญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นเจ้าภาพร่วมกันในงานฟุตบอลโลกปี 2545 เสียอีก...
ถ้า Winter Sonata เป็นเหมือนรากฐานกระแส Hallyu ที่ปักธงแน่นหนักโบกสะบัดไปทั่วโลก “แดจังกึม” ก็คือคลื่นระลอกสองที่กำลังมีอิทธิพลมากในการนำเอาวัฒนธรรมเกาหลีกลับเข้ามาถาโถมตอกย้ำอยู่ในประเทศแถบเอเชียและทั่วโลกอีกครั้ง จากคำให้การของผู้บริหาร MBC ในปี 2546 แดจังกึมสามารถสร้างกำไรจากการส่งออกลิขสิทธิ์ไปประเทศไต้หวันประเทศเดียวได้มากถึง $ 37.5 ล้านเหรียญ ในปี 2547 MBC ได้กำไรจากการส่งออกแดจังกึมไปยังประเทศต่างๆ สูงถึง $ 70 ล้านเหรียญ และในปี 2548 ก็คาดว่าจะสูงกว่า $ 100 ล้านเหรียญ แน่นอน
ทั้งนี้ สินค้า Hallyu กลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับเกาหลีได้มากถึง 10% ของมูลค่าธุรกิจทั้งหมดของเกาหลี ซึ่งอาจจะดูไม่มากมาย แต่ทว่า Director Genral ของ KOTRA ประจำประเทศไทยให้ความเห็นว่า สินค้า Hallyu นี้ถือเป็นสินค้าที่เรียกได้ว่า “มีมูลค่าเพิ่ม” สูงสุด
Hallyu Policy ..Today
ปรากฏการณ์ Hallyu ซึ่งส่งผลกระทบดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้รัฐบาลเกาหลีเริ่มมองเห็นถึงโอกาสมากมายที่จะตามมา หากกระแส “เกาหลีฟีเวอร์” นี้ได้รับการดูแลและจัดการอย่างดีและมีระบบ รวมถึง สามารถทำให้อยู่นานและกว้างขวางมากขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาของโปรแกรมการศึกษาเกี่ยวกับ Cultural Industry Academy ที่รัฐบาลเกาหลีจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาทักษะและความชำนาญในการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม รวมถึงการจัดตั้งฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับ Hallyu Star ในเว็บไซต์ HelloHallyu
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัย Chung-Ang ก็เริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโทในโปรแกรม Hallyu Studies ซึ่งเป็นการวิเคราะห์วัฒนธรรมเกาหลีในคอนเทนต์ของวัฒนธรรมอื่นๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมเกาหลีและชนชาติอื่นๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาของหนัง ละคร และเพลง
นอกจากนี้ รัฐบาลจังหวัด Gyeonggi ซึ่งเป็นจังหวัดศูนย์กลางของเกาหลี ก็วางแผนจะทุ่มเงินกว่า $ 375 ล้านเหรียญ ในการสร้าง “Hallyuwood” ให้เป็น Entertainment Theme Park ซึ่งมีคอนเซ็ปต์คล้ายกับ Hollywood ในอเมริกา แต่เพิ่มพื้นที่ของ International Business Center และพิพิธภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมหนังเกาหลีเอาไว้ด้วย
***ต้องขออภัยท่านเจ้าของบทความ...เนื่องจากผู้โพสต์จำที่มาของบทความนี้ไม่ได้ หากท่านเข้ามาพบเห็นกรุณา บอกเราได้ที่ byjtwssg@gmail.com***
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.