2.11.08

พระคงคา

ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 นี้ เป็นวันเพ็ญ เดือนสิบสอง เราคนไทยและอีกหลายชาติ มีประเพณี ลอยกระทง กัน
ประเพณีการลอยกระทงในหลายประเทศในเอเชีย มีประวัติความเป็นมา และ ตำนาน ต่างๆ รวมทั้ง ความมุ่งหมายของการลอยกระทง มีมากมายหลากหลาย คงไม่ต้องกล่าวถึง เพราะ มีที่ให้ อ่านมากมาย บางท่าน กล่าวถึง 8 จุดมุ่งหมาย
แต่สำหรับคนเล่าเอง ที่รู้จักประเพณีการลอยกระทง มาตั้งแต่เด็กๆ มีเพียง 2 ประการคือ

เพื่อเป็น การ สักการะบูชาและขอขมา พระแม่คงคา ที่เราอาจล่วงเกินท่านมาเช่นทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ ( บางปะกง ของคนเล่า) และ

เพื่อลอยทุกข์ โศก โรคภัย ความไม่ดีทั้งหลาย ลอยฝากไปกับพระแม่คงคา

เนื่องจากตนเอง ใช้วิถีชีวิต อยู่กับแม่น้ำบางปะกงมา
การลอยกระทงก็จะพายเรือไปกลางลำน้ำ แล้วจึงจุดธูปเทียนลอยกระทงไป


แต่อยากเล่า ตำนานความเป็นมาของพระคงคารวมทั้งความเชื่อ ในเรื่องเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ของพระคงคา ในการชำระบาป เพื่อไปสู่สรวงสวรรค์ในอินเดีย



พระคงคา

อันเทือกเขาหิมาลัยที่ไกลแสน
เป็นดินแดนรอยต่อรอไปสวรรค์
ผ่านเส้นทางพระคงคา มานานครัน
คนตายนั้นสรีระผ่านด้วยธารเย็น

ต่อมาได้รู้แจ้งแห่งที่เกิด
ชาติกำเนิดพระคงคามาอ่านเห็น
ราชธิดาท้าวหิมวัตซึ่งจัดเป็น
ประธานเด่นหิมาลัยในหิมพานต์

เทวนิยายสันสกฤตประดิษฐ์แต่ง
พี่สาวแห่งพระอุมาถ้าเล่าขาน
ต้องสถิตโลกมนุษย์นิรันดร์กาล
ตามตำนานท้าวสครร้อนอุรา

ราชโอรสเหลวไหลไม่ได้เรื่อง
ทรงขุ่นเคืองขับไล่ไกลยศถา
เสด็จออกไปอยู่นอกขัณฑสีมา
ทิ้งนัดดาให้พระองค์ทรงชื่นชู

เหลือโอรสอีกหกหมื่นไม่ชื่นจิต
ประพฤติผิดเหมือนเชษฐาน่าอดสู
ทรงคับแค้นหมองหม่นต้องทนดู
สุดจะรู้จะอบรมตรมฤทัย

คิดจะแผ่อาณาจักรให้ไพศาล
จัดตั้งการอัศวเมธเกิดเหตุใหญ่
เมื่อม้าวิ่งไปถึงซึ่งเมืองใด
เขาพร้อมใจเป็นเมืองขึ้นไม่ฝืนการ

เหล่าโอรสยกกองทัพติดตามม้า
ทำย่ำยีบีทาประหัตประหาร
พระธรณีแปลงร่างโคขึ้นวิมาน
ร้องทุกข์ท่านอิศวรศรีมีเมตตา

พระเป็นเจ้าปลอบใจให้ทวยเทพ
บอกสังเขปมีผู้ปลงลงโทษา
พระวิษณุอวตารซึ่งฤษีมีฤทธา
หากลืมตาเกิดไฟกรดไหม้หมดพลัน

อยู่พิภพใต้พื้นดินสิ้นจักรวาล
บำเพ็ญฌานชื่อกบิลฤษีนั่น
ครบหนึ่งปีเกิดมีเรื่องอัศจรรย์
อันตรธานหายหน้าม้าอุปการ

ภูเขาสูงป่าดงและพงชัฏ
รีบเร่งรัดไปห้วยหนองคลองละหาน
บึงแม่น้ำทุกหนแห่งไม่พบพาน
ใต้บาดาลอาจไปอยู่ขุดดูตาม

หกหมื่นองค์ขุดแผ่นดินเป็นหลุมใหญ่
ม้าอยู่ใกล้องค์ฤาษีไม่มีถาม
กล่าวคำหยาบชั่วช้าด่าประณาม
ว่าเลวทรามขโมยม้าชี้หน้ากัน

ท่านกบิลฤาษีผู้มีฤทธิ์
ได้สถิตเข้าฌานนานช้ามั่น
รู้สึกโกรธในวาจาหยาบช้าครัน
ฤษีไม่ทันระวังตนจนลืมตา

เกิดไฟกรดไหม้หมดสิ้นหกหมื่น
ท้าวสครขมขื่นเป็นหนักหนา
โครงกระดูกดั่งภูเขากองเลากา
พระราชาเหลือนัดดาโอรสยศละองค์

เข้าพนาออกผนวชสวดไถ่บาป
เพราะทรงทราบเมื่อชีวิตหากเวียนหลง
ไร้ความดีไว้ช่วยยามม้วยลง
โอรสคงผุดเกิดไม่ได้ให้ร้าวราน

หลายร้อยปีผ่านไปไม่ลดละ
จนองค์พระอิศวรเห็นควรสงสาร
เสด็จบอกว่าแม้เหลือเพียงวิญญาณ
หากได้ธารพระคงคามาช่วยทัน

ชำระล้างเถ้าอัฐิอังคารได้
พ้นเวรไปเกิดใหม่ในสวรรค์
อันเรื่องใหญ่ต่อไปนี้ที่สำคัญ
บวงสรวงอัญเชิญคงคามาเถิดเอย

แม้หมดสิ้นอายุขัยในสคร
พระแม่ไม่จรเสด็จมาวางท่าเฉย
จอมกษัตริย์ต่อมาไม่ละเลย
ผนวชเอ่ยอ้อนวอนขอรอกรุณา

นับพันปีภคีรถสละราชย์
ศิวะนาถปรากฏองค์จงสมปรารถนา
ให้เตรียมรถไว้รับองค์พระคงคา
จงคอยท่า ณ เชิงเขาหิมาลัย

ตรงตำบลฤษีเกศอย่าชักช้า
ขับรถพาไปหลุมศพอย่าสงสัย
เอ่ยโองการเรียกหาองค์อรทัย
จงครรไลเถิดคงคาอย่าอาวรณ์

พระแม่มิอาจขัดบัญชาสั่ง
กระโจนดั่งสายฟ้าจะผ่าสิงขร
มหาเทพรู้น้ำพระทัยในบังอร
พสุธาธรย่อมต้องแตกแยกกระจาย

ยื่นพระเศียรออกรองรับสายคงคา
บังคับด้วยเทวานุภาพให้สลาย
นานพันปีไหลเวียนวนจนฤทธิ์คลาย
ปล่อยเป็นสายสู่เชิงเขาที่เฝ้ารอ

มุ่งหน้าสู่เถ้าอังคารสุสานใหญ่
คงคาไหลไปครึ่งทางตามรอยล้อ
ล่วงล้ำเขตชหนุฤษีมีฤทธิ์พอ
สายน้ำก็ซัดสาดจนมณฑลพัง

ฤษีโกรธลงโทษกลืนแม่น้ำนั้น
ภคีรถผันผ่อนอ้อนวอนหวัง
พระฤษีอภัยโทษไม่โกรธชัง
ปล่อยคงคาพรั่งรินพรูสองหูตน

สองลำน้ำไหลลุ่มถึงหลุมศพ
มหรรณพกว้างใหญ่ไพศาลสนธิ์
จากแม่น้ำกลายมหาสมุทรสุดลึกล้น
อนุชนขานนามกล่าวอ่าวเบงกอล

ภารตะนิยายของเรื่องนี้
ดร.ศักดิ์ศรีแปลลายลักษณ์ เป็นอักษร
มาอ้างกล่าวเรื่องเล่าของเจ้าอมร
อุทาหรณ์บาปชำระด้วยพระคงคา

คนเล่าเอง เคยอยู่ริมน้ำบางปะกง ในคืนเพ็ญ เดือนสิบสองใกล้เที่ยงคืน คุณยาย จะให้พายเรือไปกลางลำน้ำ เพื่อตักน้ำจากกลางแม่น้ำ นำมาเติมใส่ ในโอ่งน้ำ ลายมังกร ถือเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อ สัก 40 กว่าปีก่อนโน้น และน่าแปลก ที่แม่น้ำ ของคืนลอยกระทง น้ำไม่เคยเปี่ยมเต็มฝั่ง จากเพลงที่เราร้องกันว่า วันพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง นั้นเป็นช่วงเวลาบ่ายๆ ซึ่งเป็นเวลาน้ำขึ้น แต่พอกลางคืน กลายเป็นช่วงเวลาน้ำลง ตลอดมา ...

สิบห้าค่ำน้ำไม่นองอย่างร้องร่าย (ตอนกลางคืน)
แต่กลับกลายน้ำน้อยคอยฉงน
ลงเรือพายไปกลางน้ำจ้ำทุกคน
ตักน้ำมนต์แม่คงคากลางราตรี

แล้วจึงลอยกระทงจำนงจิต
ตั้งอธิษฐานพนมก้มเกศี
ขออภัยถ้าเผลอไผลให้ปราณี
หากลูกมีผิดลบหลู่ไม่รู้คุณ

แสงเทียนส่องท้องธาราลมพาไหว
ลอยลิ่วไปกระแสน้ำนำเกื้อหนุน
ขอพระแม่ของแม่น้ำโปรดค้ำจุน
อย่าเคืองขุ่นรับขอขมาพาให้พร

น้ำที่ตักในคืนนี้มีความหมาย
คุณยายเล่าว่าศักดิ์สิทธิ์สโมสร
ท่านให้เติมใส่ตุ่มหลายลายมังกร
นั่นสาครเพ็ญเดือนสิบสองของคงคา

หากเดี๋ยวนี้ใช้นำมนต์คนเก่าแก่
อาจจะแย่ท้องเสียเพลียนักหนา
หรืออาจถึงล้มตายวายชีวา
เพราะบรรดาของเน่าเสียเขี่ยลงธาร

พระคงคาไม่ใสเย็นเช่นเแต่ก่อน
เคยคลายร้อนลงว่ายเล่นสนุกสนาน
เหลือแต่เพียงคำกล่าวขวัญเรื่องวันวาน
ให้ลูกหลานฟังเล่นเช่นมายา



ยามบ่ายชายน้ำบางปะกง

สคร (สะ คะระ ) กษัตริย์องค์ที่37 แห่งสูรยวงศ์
อัศวเมธ พิธีปล่อยม้าอุปการพร้อมกองทัพไปเมืองต่างๆ ถ้าไม่ยอม
อ่อนน้อมกองทัพจะเข้าโจมตีครบ 1 ปีกองทัพจะยกกลับ
พร้อมพระราชาที่ถูกปราบ และจัดพิธีฆ่าม้าบูชายัญ
เป็นพิธีในวรรณคดีของอินเดีย
ราชโอรส ท้าวสคร คืออัสมัญชะ เกิดจากมเหสีเอก เกศินี
โอรสอีกหกหมื่น เกิดจากมเหสีรอง สุมติ
พระนัดดา โอรส อัสมัญชะ คืออังศุมัต
อุปการ เรียกม้าที่ปล่อยในพิธีอัศวเมธ
ธร ผู้ทรงไว้ ผู้ยึดไว้
มหรรณพ ห้วงน้ำใหญ่ ทะเล
สนธิ์ ที่ต่อ การติดต่อ
อุทาหรณ์ ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาอ้างให้เห็น .
เห็นภาษาเกาหลี แล้ว อ่านไม่ออกสักตัวค่ะ เลย ขอ ลงข้อความเป็นภาษาไทย ใกล้ๆกัน เสียเลย ยังไม่จบ เรื่อง แต่เกรงว่าจะยาวไป และ คนเล่า สะบักสบอมกับภาระกิจของตัวเอง มาเดือนกว่า ความลำบาก อยู่ตอน โพสต์ข้อความ มากกว่าตอน คีย์เสียอีก

1 comment:

  1. เพิ่งเคยได้อ่านประวัติพระแม่คงคาครับ ข้อมูลดีมีประโยชน์จริง ๆ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.