เต่าดำ-เสือขาว-มังกรเขียว-หงส์แดง เรื่องน่ารู้ของชาวจีนและชาวเกาหลี
นับแต่โบราณกาล ชาวจีนได้มอบน่านฟ้าทั้งสี่ทิศไว้ภายใต้การคุ้มครองของสัตว์เทพทั้งสี่ อันได้แก่ มังกรเขียว เสือขาว หงส์แดง และเต่าดำ ดังคำกล่าวที่ว่า “ซ้ายมังกรเขียว ขวาเสือขาวครอง หงส์แดงนำหน้า เต่าดำสถิตยังเบื้องหลัง” พัฒนาการของแนวคิดความเชื่อดังกล่าว มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับศาสตร์พยากรณ์และคติความเชื่อในลัทธิเต๋าของชาวจีนที่สืบทอดมานานนับพันปี
ชาวจีนโบราณแบ่งท้องฟ้าออกเป็น 4 ส่วน คือ ตะวันออก ตก เหนือและใต้ จากการสังเกตหมู่ดาวบนท้องฟ้า จับกลุ่มทิศทางการเรียงตัวของหมู่ดาวเทียบเข้ากับลักษณะของคน สัตว์หรือรูปลักษณ์ในตำนานตามความเชื่อของตน โดยให้ทิศตะวันออกแทนกลุ่มดาวมังกรเขียว (จากตำนานการปรากฏขึ้นของจักรพรรดิเหลืองทางทิศตะวันออก) ตะวันตกแทนกลุ่มดาวเสือขาว ทิศใต้แทนกลุ่มดาวหงส์แดงและทิศเหนือ แทนกลุ่มดาวเต่าดำ แต่ละทิศครองดาว 7 ดวง (รวม 28 ดวง)
ภายในสุสานยุคจั้นกั๋ว(ราว 433 ปีก่อนคริสตศักราช) แห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ย ได้มีการขุดพบภาพวาดของหมู่ดาว 28 ดวงกับมังกรเขียวและเสือขาวบนฝาของภาชนะเคลือบใบหนึ่ง ซึ่งบอกเราว่า การกำหนดเรียกหมู่ดาวบนท้องฟ้า ได้เกิดขึ้นก่อนหน้าเวลานี้อีกนานนัก
สัตว์เทพทั้งสี่ต่างยึดครองน่านฟ้าทั้งสี่ทิศ กลายเป็นตัวแทนของทิศทั้งสี่ จนกระทั่งการศึกษาว่าด้วยศาสตร์แห่งธาตุทั้งห้า และภูมิพยากรณ์ (ฮวงจุ้ย อินหยาง เป็นต้น) เป็นที่แพร่หลาย สัตว์เทพทั้งสี่และดวงดาวทั้ง 28 เป็นที่รู้จักในฐานะของ “เทพเจ้าผู้พิทักษ์” ตำหนักและสิ่งปลูกสร้างในวังหลวง ได้รับการประดับตกแต่งเป็นลวดลายของสัตว์เทพทั้งสี่ ส่วนประตูทางทิศเหนือของวังหลวงมักได้ชื่อว่า ประตูเสวียนอู่(เต่าดำ) เนื่องจาก หงส์แดง แทนสัญลักษณ์ของไฟ ขณะที่สถาปัตยกรรมโบราณของจีนล้วนแต่สร้างด้วยไม้ จึงมักไม่ปรากฏรูป แต่จะปรากฏในเชิงสัญลักษณ์อยู่บนกำแพง (ทาสีแดง)แทน
เมื่อถึงสมัยฉินและฮั่น สัตว์เทพทั้งสี่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในฐานะตัวแทนของฤดูกาลและสีสันทั้งสี่ ในช่วงเวลาดังกล่าว สัตว์เทพทั้งสี่ได้ปรากฏในศาสตร์วิทยาการของจีนหลากหลายสาขา อาทิ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ และการทหาร ดังเช่น ในตำราพิชัยสงครามบทหนึ่ง ได้กล่าวถึงการกำหนดทิศทางเดินทัพไว้ว่า “การเคลื่อนทัพนั้น ซ้ายเป็นมังกรเขียว ขวาเสือขาว ทัพหน้าคือหงส์แดงและเต่าดำคุมหลัง บัญชาการจากเบื้องบน นำปฏิบัติสู่เบื้องล่าง” เนื่องจากผู้คนในสมัยนั้นต่างคุ้นเคยกับตำแหน่งของสัตว์เทพทั้งสี่เป็นอย่างดี ภายหลังจึงได้รับการประยุกต์ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของธงนำทัพไป
ต่อเมื่อศาสนาเต๋ารุ่งเรืองขึ้น มังกรเขียว เสือขาว หงส์แดงและเต่าดำในฐานะเทพเจ้าผู้คุ้มครองมนุษย์ ต่างมีความสำคัญขึ้น ถูกยกให้มีความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ต่างมีชื่อเรียกเป็นมนุษย์ และต่อมาอีกไม่นาน เทพเสวียนอู่หรือเต่าดำ ก็โดดเด่นขึ้นในฐานะของ “เจินอู่” ปรมาจารย์เต๋าผู้สำเร็จมรรคผล ส่วนหงส์แดงเป็นเทพที่มีบทบาทแยกออกมาเป็นเอกเทศ ขณะที่มังกรเขียวและเสือขาวกลายเป็นเทพทวารบาลผู้รักษาประตูทางเข้าสู่มรรคาแห่งเต๋า
มังกรเขียว ประจำทิศตะวันออก สีเขียว ธาตุไม้ ฤดูใบไม้ผลิ
ชาวจีนโบราณ ถือว่ามังกรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจกษัตริย์ และเป็นสัตว์มงคลชนิดหนึ่ง นับตั้งแต่ยุคของจักรพรรดิเหลืองเป็นต้นมา มังกรก็กลายเป็นตัวแทนของผู้มีเชื้อสายจีนทั้งมวล โดยเฉพาะเมื่อถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ปรากฏภาพวาดและตำนานเกี่ยวกับหวงตี้หรือจักรพรรดิเหลืองที่ทรงมังกรเป็นพาหนะเหินบินสู่ฟ้า มังกรจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิผู้ยิ่งยงอีกด้วย
ตำนานกล่าวว่า มังกรเขียว มีลำตัวเป็นงู หัวเป็นกิเลน หางเป็นปลา มีเครายาว มีเขา เท้าคล้ายกรงเล็บ รูปลักษณ์เป็นมังกรเหิน เปี่ยมด้วยพลังอำนาจ เนื่องจากประจำทิศตะวันออก ธาตุไม้ มีสีเขียว จึงเป็นมังกรเขียว
เสือขาว ประจำทิศตะวันตก สีขาว ธาตุทอง ฤดูใบไม้ร่วง
เสือ เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่าทั้งมวล เนื่องจากประจำทิศตะวันตก ธาตุทอง มีสีขาว จึงกลายเป็น เสือขาว เป็นตัวแทนของอำนาจบารมี ความเคารพยำเกรงและการทหาร เนื่องจากเสือเป็นนักล่า กินเนื้อ ดังนั้น จึงมีภาพลักษณ์เป็นเทพเจ้าแห่งศึกสงครามและการล่าสังหารอีกด้วย สถานที่หรือชัยภูมิในสมัยโบราณหากมีชื่อของเสือขาว จึงมักมีนัยสำคัญทางทหาร นอกจากนี้ ยังใช้ในการตั้งชื่อหน่วยกำลังรบ และใช้เป็นตราสัญลักษณ์ในการบัญชาการเคลื่อนทัพ หรือสลักเป็นลวดลายคู่กับมังกรเขียวบนบานประตูทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย
หงส์แดง ทิศใต้ สีแดง ธาตุไฟ ฤดูร้อน
หงส์ เป็นเจ้าแห่งปักษา และเป็นสัตว์มงคลชนิดหนึ่งของจีนมาแต่โบราณ มีรูปลักษณ์เดิมมาจากนกหลากหลายชนิด อาทิ ไก่ฟ้า ห่านฟ้า นกกระจอก เหยี่ยวนกกระจอก นกนางแอ่นฯลฯ ในตำนานกล่าวว่า หงส์มีรูปคล้ายไก่ฟ้า มีสีขนสลับลายเป็นประกาย มีนิสัยรักสะอาด ช่างเลือก (มีความละเอียดอ่อนประณีต) เนื่องจากรูปลักษณ์เป็นนก ประจำทิศใต้ ธาตุไฟ สีแดง จึงได้ชื่อว่า หงส์แดง
ภายหลังได้รับอิทธิพลจากความเชื่อลัทธิเต๋า จากสัตว์เทพค่อยวิวัฒนาการเป็นรูปลักษณ์ของครึ่งคนครึ่งสัตว์ จากนั้นกลายเป็นเทพที่มีรูปเป็นหญิง
เต่าดำ ประจำทิศเหนือ สีดำ ธาตุน้ำ ฤดูหนาว
เต่าดำหรือเสวียนอู่ มีรูปลักษณ์เป็นเต่า แต่มีเกล็ดคล้ายงู มีลักษณะร่วมกันของเต่าและงู บ้างใช้สัญลักษณ์เป็นรูปเต่าที่มีงูพันรัดกลางลำตัว แต่เดิมมาจากการใช้กระดองเต่าในการทำนายทายทัก ซึ่งหมายถึงการให้เต่านำคำถามลงไปสู่โลกแห่งวิญญาณเพื่อนำคำตอบกลับมายังโลกมนุษย์ อีกทั้งกระดองเต่ามีสีดำ จึงปรากฏในรูปเต่าดำ ภายหลังได้มีการขยายความออกไป โดยเห็นว่าเต่าอาศัยอยู่กับน้ำ ทั้งแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่จนถึงท้องทะเลกว้าง จึงได้รับการขนานนามให้เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ อีกทั้ง เต่ามีอายุยืนนาน จึงเป็นสัญลักษณ์แทนการมีอายุวัฒนะ
ชัยภูมิฮวงจุ้ย: 4 สัตว์เทพ (อันนี้เอามาแถมให้นะครับ)
มังกรเขียว เสือขาว เต่าดำ+งู หงส์แดงหรือกระจิบแดง จากประวัติศาสตร์โบราณของจีน ต้นกำเนิดของศัพท์ทั้งสี่คำนี้มาจากการเรียกทิศทั้งสี่ด้านของพระบรมมหาราชวัง สัตว์แต่ละชนิดมาจากการที่สังเกตเห็นกลุ่มดาวฤกษ์ตามทิศต่างๆ เช่น กลุ่มดาวฤกษ์ทางทิศตะวันออกมีลักษณะเหมือนมังกร กลุ่มดาวฤกษ์ทางทิศตะวันตกมีลักษณะเหมือนเสือ กลุ่มดาวฤกษ์ทางทิศใต้มีลักษณะเหมือนหงส์ และกลุ่มดาวฤกษ์ทางทิศเหนือมีลักษณะเหมือนเต่า
นอกจากนี้สีต่างๆที่ระบุในข้างต้นคือสีของธาตุประจำทิศ โดยที่
ทิศตะวันออก เป็นธาตุไม้ สีของธาตุไม้คือ สีเขียว
ทิศตะวันตก เป็นธาตุทอง สีของธาตุทองคือ สีขาว
ทิศใต้ เป็นธาตุไฟ สีของธาตุไฟคือ สีแดง
ทิศเหนือ เป็นธาตุน้ำ สีของธาตุน้ำคือ สีดำ
มังกรเขียว เสือขาว หงส์แดง และเต่าดำ ศัพท์ทั้งสี่นี้ถูกนำมาใช้เรียกตำแหน่งชัยภูมิในปัจจุบันโดยไม่ต้องคำนึงว่าบ้านหรือสถานที่นั้นหันหน้าไปทางทิศใด เพียงแต่ใช้กำหนดตำแหน่ง ทางซ้าย ขวา หน้า และหลังเท่านั้นตามหลักของฮวงจุ้ย ชัยภูมิทั้งสี่ด้านนั้นถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการตัดสินว่าฮวงจุ้ยดีหรือไม่ สมดุลหรือไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งมังกรเขียว เสือขาว หงส์แดง หรือว่าเต่าดำก็ตาม ควรจะมีลักษณะที่ถูกต้องตามหลักของวิชาฮวงจุ้ย ซึ่งในสมัยโบราณชาวจีนจะดูลักษณะของภูเขา และสายน้ำในการเลือกทำเลที่อยู่อาศัย แต่เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ไม่สามารถหาทำเลที่มีลักษณะดังกล่าวได้ จึงต้องดูลักษณะของอาคาร ถนนหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆแทน เมื่อเรายืนอยู่ในตำแหน่งของกลางประตูบ้านแล้วหันหน้าออกมาทางหน้าบ้าน
ด้านซ้ายมือ จะถูกกำหนดเป็นตำแหน่ง มังกรเขียว มีพลังหยาง (เอี้ยง) ตำแหน่งนี้ต้องการความเคลื่อนไหวและแสงสว่าง ฯลฯ หมายถึงผู้ชายหรือบุตรหลาน ลูกน้อง ที่เป็นผู้ชาย
ด้านขวามือ จะถูกกำหนดเป็นตำแหน่ง เสือขาว มีพลังพลังหยิน (อิม) ตำแหน่งนี้ต้องการความสงบนิ่ง ไม่ต้องการแสงสว่าง ฯลฯ หมายถึง ผู้หญิงหรือบุตรหลาน ลูกน้องที่เป็นผู้หญิง ทั้งสองตำแหน่งนี้ต้องมีความสมดุล จึงจะเกิดผลดี หากตำแหน่งเสือขาวมีบทบาทที่มากเกินไป จะทำให้ผู้หญิงมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย อาจเกิดการข่มหรือใช้อำนาจกับผู้ชาย (ทั้งนี้ต้องดูที่ชัยภูมิส่งเสริมด้วย) เป็นต้น
ด้านหน้า จะถูกกำเนิดเป็นตำแหน่ง กระจิบแดงหรือหงส์แดง มีพลังเป็น หยาง (เอี้ยง) ตำแหน่งนี้ ต้องการความเคลื่อนไหวและแสงสว่างเช่นเดียวกันกับตำแหน่งมังกรเขียว ควรเป็นที่โล่ง ว่างและสะอาด มีทางน้ำหรือถนนผ่าน มีเนินไม่สูงนักหรืออาคารฝั่งตรงข้าม แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรมีลักษณะที่เป็นวิบากกับตำแหน่งประธานคือบ้านของเรา ฯลฯ ตำแหน่งนี้หมายถึงโอกาสและโชคลาภ
ตำแหน่งด้านหลัง จะถูกกำหนดเป็นเป็นตำแหน่ง เต่าดำ+งู มีพลังเป็นหยิน (อิม) ต้องการความสงบนิ่ง ไม่ต้องการความสว่างเช่นเดียวกันกับตำแหน่งเสือขาว ไม่ควรเป็นที่โล่ง ว่าง ควรมีลักษณะเป็นเนินหรืออาคารสูงพอประมาณ ไม่สูงมากเกิน 2 เท่าของตำแหน่งประธานหรือบ้านของเรา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นกดทับ ตำแหน่งนี้หมายถึงผู้ช่วยเหลือ สนับสนุน
ทั้งนี้ ผู้ศึกษาวิชาฮวงจุ้ยจำเป็นต้องตีความทั้งสี่ตำแหน่งให้ออกเพราะในลักษณะของชัยภูมิจริง ทั้งสี่ตำแหน่งที่พบนั้นอาจมิใช่เนินหรืออาคาร บ้านเรือน ที่มีลักษณะสอดคล้องกับที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งส่งผลให้เกิดการมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไปได้ ทำให้การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งของชัยภูมิผิดไป การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งของชัยภูมิได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องอาศัยความรู้จากการศึกษาที่ได้รับมาจากผู้รู้จริงและประสบการณ์จริง จึงจะทำให้เกิดความชำนาญ การศึกษาจากในหนังสือหรือบทความยังไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งที่ถูกต้อง
4 Guardian God of Chinese, Korea and Japan
In both Chinese, Korea and Japanese mythology, the dragon is one of four legendary creatures guarding the four cosmic directions (Red Bird - S, Dragon - E, Tortoise - N, and the Tiger - W). The four, known as the Four Celestial Emblems, appear during China's Warring States period (476 BC - 221 BC), and were frequently painted on the walls of early Chinese and Korean tombs to ward off evil spirits. The Dragon is the Guardian of the East, and is identified with the season spring, the color green/blue, the element wood (sometimes also water), the virtue propriety, the Yang male energy; supports and maintains the country (controls rain, symbol of the Emperor's power). The Guardian of the South, the Red Bird (aka Suzaku, Ho-oo, Phoenix), is the enemy of the dragon, as is the bird-man Karura. Actually, the Phoenix is the mythological enemy of all Naga, a Sanskrit term covering all types of serpentine creatures, including snakes and dragons. The Dragon (East) and Phoenix (South) both represent Yang energy, but they are often depicted as enemies, for the Dragon represents the element wood, while the Phoenix signifies the element fire. However, they're also often depicted together in artwork as partners. The Dragon is the male counterpart to the female Phoenix, and together they symbolize both conflict and wedded bliss -- the emperor (dragon) and the empress (phoenix).
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.