30.5.08

การศึก ของทัมด๊ก

ตำราพิชัยสงคราม ของจีน

ฉบับที่ ผู้เล่า กำลังยกมาเล่านี้ กล่าวว่า สมัยโบราณของจีน ยุคสมัย จั้นเก๋าะ หรือสมัยกลียุค เป็นยุคที่บรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐ ต่างๆ เกือบ ร้อยรัฐ ยกทัพรบราฆ่าฟันกันอย่างเมามัน ตำราพิชัยสงครามบางเล่ม ได้เขียนในระหว่างราชวงศ์ฮั่นและต้นราชวงศ์ถัง

จั้นเก๋าะ เป็นยุคก่อนสมัยคริสตศักราช 5 ศตวรรษ หรือ 3 ศตวรรษ ในช่วงเวลา ก่อน 200 ปี ของสมัย จั้นเก๋าะ มีสงครามบันทึกไว้ มากกว่า 23 0 ครั้ง ผลที่สุดทำให้ นครรัฐ 100 กว่ารัฐ ก่อนสมัย ชุนชิว ถูกกลืนกลายเป็น 7 รัฐมหาอำนาจ และในที่สุดก็ถูกรัฐฉิน กลืนกลายเป็นจักรวรรดิผืนแผ่นดินเดียว
ในสมัยชุนชิว มีการใช้หอก หลาว ง้าว ดาบ ทำจากทองเหลือง ต่อมาเป็นเหล็ก มีการประดิษฐ์เครื่องกล การรบ รบด้วย รถรบ (รถที่มีม้าลาก) ผู้บัญชาการรบ เป็นเสนาบดีผู้ดีทั้งหลาย นั่งรถสั่งการ ยุคจั้นเก๋าะ มีการใช้ทหารราบ ทหารม้า มีการทำสงครามกลางสมรภูมิ และสงครามโอบล้อม พวกชาวนากลายเป็นกำลังทหาร การสงครามเป็นรูปแบบใหญ่กว่าเดิม
ยุทธสงครามที่ขุนเขา อีแซ (อยู่ปลายแม่น้ำเหลืองในมณฑล ซานชี) ก่อน ค ศ. 292 ปี กองทหารรัฐฉิน จับกองทหารรัฐ หั้น และเว่ย ที่รบแพ้ 240,000 คน ตัดหัวสังหารเรียบวุธ การรบที่เมืองฉางผิง เป็นยุทธการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ของสมัย จั้นเก๋าะ (262-2 ปี ก่อน คศ.) ทหารรัฐฉิน นำทหารรัฐ เฉา ที่ยอมจำนน จำนวน 400,000 คน มาฝังทั้งเป็น การทำสงครามมักยาว นาน 1 ปีขึ้นไป

ในยุคชุนชิว ประมุขผู้ครองนครรัฐ หรือบรรดาเสนาบดี จะออกบัญชาการรบเอง แต่ในสมัย จั้นเก๋าะ จะมีขุนพลผู้ชำนาญการรบ ทำหน้าที่บัญชาการรบ
การจะอาศัยฝีมือและกลอุบายเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่มีทางเอาชนะศึกได้ กลุ่มนักปราชญ์ สำนัก นักคิดต่างๆ ที่ใช้ความคิดทางการเมือง เที่ยวเจรจาโน้มน้าว บรรดาประมุขของรัฐ จึงเกิดมีผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านทฤษฎีการทหาร และเกิดนักการทหาร
ต่อมา ปันกู่ นักประวัติศาสตร์ในสมัยราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง (ค.ศ 32-92 ) ได้เรียบเรียงหนังสือ “บันทึกวรรณคดียุคฮั่น” ได้บันทึกรายชื่อหนังสือเก่าแก่ที่สุดของโลก ที่เหลือมาปัจจุบัน มีรายชื่อ 600 กว่าชนิด เฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม มีมากถึง 53 ชนิด น่าเสียดายว่า ได้เหลือไว้แต่ แค่ชื่อหนังสือเท่านั้น ตัวหนังสือตำราพิชัยสงคราม แท้ๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบันเลย
กล่าวกันว่า ต้นราชวงศ์ฮั่น 200 ปี ปันกู่ หนังสือตำราพิชัยสงครามต่างๆ ถึงสมัย จั้นเก๋าะ เป็นต้นมา ที่เตีย เหลียง และหั้นสิ้น ขุนพลผู้สร้างจักรวรรดิ ให้แก่ พระเจ้า ฮั่นเกาโจว ได้นำมาชำระและเรียบเรียงใหม่ ก็มีมากถึง 128 ประเภท

มาทำความรู้จัก กับนักปราชญ์จีน เจ้าของตำราพิชัยสงคราม ที่คนเล่าคิดว่าเป็นต้นแบบของ คุณซงจีนา และคุณ ปาร์คคยองซู คนเขียนบท ของ ตำนานจอมกษัตริย์เทพสวรรค์ ที่นำมาใช้เป็น การทำศึก ของ ทัมด๊ก สักเล็กน้อยก่อน

1.ซุนจื่อ
ท่านซุนที่ถูกยกย่องให้เป็นนักการทหารที่ยิ่งใหญ่ มีอยู่ 2 คน
ซูนอู่ เป็นคนยุคเดียว กับขงจื้อ และอีกคนคือซุนปิน เป็นคนรุ่นหลังอีกประมาณ 100 ปี เป็นคนรุ่นเดียวกับ เม่งจื้อ สมัย จั้นเก๋าะ
ซุนอู่เป็นขุนพลของรัฐฉี (ปัจจุบันคือมณฑล ชานตง) ในปลายยุค ชุนชิว เป็นขุนพลของเฮอลู่อ๋องได้นำตำรานี้เสนอต่อเฮอหลูประมุขรัฐฉี ครองราชย์ระหว่างก่อนคริสต์ศักราช514-490
ซุนปิน เป็นกุนซือของ เอยอ๋องแห่งรัฐฉี ใน สมัย 7 รัฐ มหาอำนาจแห่งยุคจั้นเก๋าะ
ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ เป็นตำราพิชัยสงครามเก่าแก่ที่สุดของจีน เนื้อหายอดเยี่ยมเลิศล้ำ ซุนจื่อ เป็นปรมาจารย์ที่ค้นคว้าหลักเกณฑ์แห่งสงคราม เน้นหนักการวินิจฉัยด้าน ภววิสัย สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ ใช้หลักเหตุและผลพิจารณา แผนที่จะเอาชนะข้าศึกได้อย่างปลอดภัย ( ภว = ความเกิด ความมี ความเป็น) แต่ก็ถูกวิจารณ์ ในเรื่อง เล่ห์เพทุบาย แต่ก็ มีผู้กล่าวว่า นั่นเป็นการพลิกแพลงกฎเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงของยุทธวิธี ต่างหาก

2. หวูจื่อ
ตำราพิชัยสงครามของหวูจื่อ เป็นหนึ่งในหนังสือรวมบทนิพนธ์ของหวูฉี่ อัครเสนาบดีของรัฐฉู่ ในต้นสมัย จั้นเก๋าะ ประมาณ 2,400 ปี ก่อน
หวูฉี่เกิดหลังสมัย ขงจื่อ ประมาณ ครึ่งศตวรรษ ที่รัฐเว่ย (อยู่ทางภาคใต้ของมณฑลเหอนานในปัจจุบัน) เกิดก่อน เม่งจื่อ และซุนปิน เคยเป็นศิษย์สำนักเจินจื่อ สานุศิษย์ของขงจื่อ เจินจื่อเป็นศิษย์รุ่นท้ายๆของขงจื่อ มีอายุอ่อนกว่าขงจื่อ 46ปี หวูจื่อ ไปอยู่หลายรัฐจนมาถึงรัฐฉู่ (ในช่วง ก่อน ค.ศ. 445-396 , 395-370 , 410-341 คือ ปี ที่ประมุขแต่ละรัฐครองอำนาจ) ว่ากันว่า หวูฉี่ เป็นคนใจดำอำมหิต หวูฉี่ จะมุ่งมั่นไปข้างหน้าอย่างมั่นใจด้วยอารมณ์คึกคะนอง ไม่ระย่อท้อถอย ตำราพิชัยสงคราม หวูจื่อ จะพูดตรงไปตรงมา มากกว่าตำราพิชัยสงคราม ซุนจื่อ แต่ในด้านลึกของประสบการณ์ชีวิตและการเข้าใจจิตใจของคนอื่นนั้น หวูฉี่ ย่อมสู้ ซุนอู่ ไม่ได้

ตำราพิชัยสงครามหวูจื่อและตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ ถูกยกย่องเคียงคู่กันมาโดยตลอด โดยทั่วไปจะรวมเรียกว่า ตำราพิชัยสงครามซุนหวู หรือซุนวู

3. ตำราพิชัยสงครามของ หวีเหลี้ยวจื่อ (นักการทหารของจิ๋นซีฮ่องเต้ แห่งรัฐฉิน) ก่อนคริสต์ศักราช 237 จิ๋นซีฮ่องเต้ ทรงรวบรวมอาณาจักร 7 รัฐมหาอำนาจ
ความคิดพื้นฐานของหวีเลี้ยวจื่อ ถือว่า สงครามเป็นสิ่งชั่วร้าย ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ ปรารถนา แต่ถ้าเป็นสงครามที่รบเพื่อธรรม ที่ทุกคน สามารถ มองออกแล้ว ก็จักต้องเปิดฉากทำสงครามเข้าพิชิตก่อนอย่างฉับพลันทันที เป็นทฤษฎีการรบ ที่ยึดมั่นในหลักยุทธวิธี ที่ตรงไปตรงมาและสง่าผ่าเผย ปราศจากเล่ห์เพทุบาย เป็นนักการทหารยึดมั่นในหลักยุทธวิธี

( มีละคร เรื่องจิ๋นซีฮ่องเต้ ฉาย ใน ทีวีบ้านเรา จะเห็นชัด กับ หวีเหลี้ยวจื่อ นักการทหาร ที่ดูมีคุณธรรม เมตตาธรรม ขัดแย้งกับ จิ๋นซีฮ่องเต้ ที่โหดร้าย ป่าเถื่อน จริงๆ เกือบตลอดเวลา แต่ ก็ดู จิ๋นซีพระองค์นี้ เป็นพระเอก เจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัว ฆ่าคนแบบไม่ต้องกระพริบตา แต่ก็ น่ารัก ดี เหมือนกัน จะบอกให้.... (ดีกว่า จิ๋นชี เวอร์ชั่น อื่นๆ ในความรู้สึกของคนเล่า ) แม้จะโหดๆ เถื่อนๆ ก็ ยังดูดี ถ้าใครไม่ได้ดู ก็จะดู หวีเหลี้ยวจื่อไม่ทันแล้ว เพราะ พอรวม 7 รัฐ เสร็จ ก็ กราบบังคมทูลขอลาออก แต่ จิ๋นซี ฮ่องเต้ไม่ทรงอนุญาต พอสบโอกาสก็ เปิด แน่บ ฝาก สหาย ชื่อ หลี่ซือ กราบบังคมทูลลา แทน หายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว เหลือแต่ผลงาน ความสำเร็จ คนแสดงก็แสดงดีเสียด้วย)

4. ตำราพิชัยสงครามของ ซือหม่าฝา แห่งรัฐ ฉี ในสมัยชุนชิว (กลียุคของจีน ที่รัฐต่างๆ แย่งความเป็นใหญ่ก่อนที่จื๋นซีฮ่องเต้รวบรวมอาณาจักร)
กล่าวกันว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นของ เถียนหลางจวี ขุนพลใหญ่รัฐ ฉี ยุค อ๋องฉีจิ้นกงเป็นประมุข รัฐฉี ก่อน คริสต์ศักราช 6 ศตวรรษ รัฐฉีเป็นรัฐใหญ่ด้านทิศตะวันออกในยุคที่ ซุนซิวจั้นเก๋าะ กำลังรุ่งเรืองเต็มที่ อ๋องฉีจิ้นกง ครอบครองรัฐฉี นานถึง 58 ปี ขงจื่อ ก็อยู่ในยุคนี้
คำว่าซือหม่าคือ ตำแหน่งแม่ทัพ ในสมัยราชวงศ์ โจว ต่อ มาได้กลายเป็น แซ่ ของชาวจีน
“ซือหม่าฝา” เข้าใจว่าเป็นตำราพิชัยสงครามของแม่ทัพผู้คุมทัพในสมัยราชวงศ์โจว ไทกงหลี่อ้วนนักการทหารของราชวงศ์โจว ได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์ ไปกินเมืองฉี เมื่อตกทอดไปถึง เถียนหลางจวี ๆ ก็ได้รวบรวมขึ้นใหม่ ก่อน คริสต์ศักราช 4 ศตวรรษ เอ้ยอ๋องแห่งรัฐฉี ได้นำเอา ซือหม่าฝา สมัยโบราณ มาเรียบเรียงใหม่ เป็น ซือหม่าฝา โดยแทรกเสริมตำราพิชัยสงคราม ของเถียนหลางจวี เข้าไปด้วย เนื้อหามีคำคมอยู่ไม่น้อยทีเดียว เป็นคติพจน์ของตำราพิชัย สงคราม

5. ตำราพิชัยสงครามของหลี่เว้ยกง (ตำรานี้เกิดจาก ข้อสนทนาของพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ ถัง จักรพรรดิองค์ที่ 2 กับขุนพลหลี่เว้ยกง (ลีเจ๋ง )ยอดขุนพลราชวงศ์ถัง ในต้นศตวรรษที่7
จักรวรรดิต้าถัง เจริญรุ่งเรืองต่อจากราชวงศ์ สุย จากศตวรรษที่ 7 ถึง ศตวรรษที่10 วัฒนธรรมและวรรณคดี เจริญเฟื่องฟูถึงขีดสุด หลี่เว้ยกง ได้ช่วยพระเจ้าถังไทจง ปราบอริราชศัตรูและเสี้ยนหนามของแผ่นดินราบคาบ เนื้อหาของตำรานี้ขาดข้อเสนอที่เด็ดขาดของตัวเอง แต่ก็พอจะถือได้ว่า เป็นการเก็บสาระสำคัญของตำราพิชัยสงคราม ฉบับต่างๆ ของ สมัยโบราณ

(ข้อมูลจากหนังสือ ซุนวู ตำราพิชัยสงคราม 7 คัมภีร์ ของ เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ )

คงมีหลายคนรู้สึกว่า ทัมด๊ก เป็นกษัตริย์ที่โอเวอร์เกินไปไหมที่เป็นกษัตริย์ติดดินคลุกคลีกับคนชั้นล่าง เช่นบาซอน ดัลบี จูมูชิ ทหารชั้นผู้น้อยต่างๆ คิดว่ามีคำตอบให้ ว่าจำเป็นอย่างยิ่ง คุณซงจีนา เริ่มต้นเรื่องไว้ว่า กษัตริย์ หยาง พระบิดาแทบไม่มีอำนาจทางทหาร แม้แต่การจะปกป้องคุ้มครององค์ชายรัชทายาทในการขึ้นครองราชย์ มีเพียง ขุนพล โก อูซุง และกองทหารราชองครักษ์ พันกว่านายเท่านั้นที่จงรักภักดี ในขณะที่ตระกูลยอน ควบคุมอำนาจทั้งการค้า และการทหารเกือบทั้งหมด และยังใช้เงินจ้างทหารอาสาสมัครที่สนับสนุน ยอนโฮแก ได้ไม่อั้น ทัมด๊ก จะทรงทำอย่างไร อีกทั้ง ทัมด๊ก ไม่ทรงรู้ว่าทรงเป็นกษัตริย์จูชิน ที่มีบารมีสวรรค์ของเทพ ฮวานอุง คอยปกป้องคุ้มครอง แต่สิ่งที่ ทัมด๊ก มี คือ ความฉลาดปราดเปรื่อง น้ำพระทัยที่อ่อนโยนไม่ถือองค์ รักประชาชนเป็นพื้นฐาน เมื่อทรงพระเยาว์ก็โปรดที่จะแอบออกจากวังและคลุกคลีกับเด็กๆ และชาวบ้านทั่วไปที่ตลาด

ทุกอย่างที่ปรากฏในละคร มาจากตัวตนตาม concept ของ ทัมด๊ก และการใช้กลยุทธ์ที่ศึกษาได้จากตำราพิชัยสงคราม พลิกแพลงด้วยปฏิภาณไหวพริบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากเปรียบง่ายๆ กับสิ่งที่คนไทยมี และเรารู้จักกันดี คือมวยไทย นั้น ที่คนเล่ารู้สึกว่า ทัมด๊ก ใช้แม่ไม้มวยไทย แต่กษัตริย์องค์อื่น คนเขียนบท (จูมง และ อาชาง หรือคิงมู ในซอยองโด) ใช้ มวยวัดบวกดวงดี ( รู้สึกมีก้อนหินหลายก้อน ขว้างมาโดนศีรษะ แต่ไม่เป็นไร คนเล่าก็มีของดี คือยันต์กันหัวแตก ) จูมง มีแนวร่วม คือประชาชนผู้อพยพ ที่ไม่มีแผ่นดินเป็นของตัวเองแตกกระสานซ่านเซ็นอยู่ตามดินแดนต่างๆ มีโจทย์ที่ต้องตีให้แตก และใช้เป็นคาถาโอมอ่านเรียกระดมพลประชาชนให้มาร่วมกัน นั่นคือการ ต่อต้านฮั่น ไล่ฮั่นออกไปจากคาบสมุทรเกาหลี และประสบผลสำเร็จคือขับไล่ฮั่น ออกไปได้ คนเล่าอาจเข้าใจผิดเองก็ได้ ที่ว่าสำเร็จคือการฆ่าท่านเจ้าเมือง เหลียวตง ที่ฮ่องเต้ฮั่นทรงแต่งตั้งมาดูแล เจ้าเมืองเมืองเหลียวตงคนสุดท้ายตอนจบชื่อหวังจาคุง หรือจาคุง (ที่เขียนมานี้ เรากำลังพูดถึงบทละคร เท่านั้น) มีคนมารวมตัวเป็นทหารให้องค์ชายจูมงมากมาย
ส่วน ทัมด๊กเอง ประชาชนโคคุเรียว นั้นพากันเข้าใจว่า ยอนโฮแก ต่างหาก คือกษัตริย์จูชิน

ทัมด๊ก ทรงได้รับการศึกษา ทั้งบุ๋นและบู๊ ตั้งแต่เยาว์ชันษา และองค์ชายทัมด๊ก ก็ส่อเค้าความฉลาดปราดเปรื่อง เมื่อสันนิษฐานว่า ตระกูลยอน วางยาพิษ พระบิดา ทัมด๊ก ก็สอบถามถึงความแข็งแกร่งด้านการทหารของตระกูลยอน เมื่อได้รายละเอียด ก็บอกกับขุนพล โก อูซุง ว่า ข้าจะไม่เริ่มทำสงครามที่อาจจะต้องพ่ายแพ้ นั่นคือกลยุทธ์

1. การออกต่อสู้กับศัตรู ต้องรู้ว่า จะชนะหรือไม่
แล้วองค์ชายก็ยังไปโยนหินถามทางกับยอนโฮแกเกี่ยวกับเรื่องยาพิษ ความคิดของเด็ก 11 ขวบ ก็ไม่เกินจริงสำหรับคนฉลาดอัจฉริยะ ย่อมส่อแวว มาตั้งแต่เด็ก และนี่เป็นเงื่อนไขแรกที่ทัมด๊กใช้ตัดสินพระทัยในการทำสงครามในครั้งต่อๆ มา
เมื่อสิ้นพระบิดาและ ทัมด๊ก รักษาการกษัตริย์เป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อยอนโฮแก จะยกทัพไปทำสงครามกับแพคเจ ทรงเตือน ยอนโฮแก ใน ท้องพระโรงเกี่ยวกับเรื่องของ

2 การทำสัมพันธ์ไมตรี กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไม่ให้ประเทศเหล่านั้น ส่งทหารมาช่วยข้าศึก(แพคเจ )ทำสงคราม และ ทัมด๊ก เองก็ใช้กลยุทธ์นี้เมื่อไป เขาคอรัล

3.กลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมนั้นคือการทำให้ข้าศึกวางอาวุธยอมแพ้ เป็นกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด
(คือกลยุทธ์ยอดเยี่ยมที่เหนือความยอดเยี่ยม) ทัมด๊ก สามารถยึดป้อมปราการของแพคเจได้หลายป้อมโดยไม่เสียเลือดเนื้อ
ก่อนเริ่มทำศึก ทัมด๊ก มีรับสั่งกับทหารทั้งหลาย 3 ข้อ ในข้อที่สองที่ว่า

4.ชัยชนะของสงครามขึ้นกับความรวดเร็ว ใน 7 วันต้องยึดป้อมปราการให้ได้ 3 ป้อม ใน 20 วันต้องได้ชัยชนะป้อมปราการ 10 ป้อม (การรบกับข้าศึกต้องโหมกำลังเผด็จศึกอย่างรวดเร็วฉับไว ถ้าปล่อยสงครามยืดเยื้อกำลังใจทหารจะเสื่อมถอย ขวัญเสีย ขาดความทระนง องอาจ)
.เมื่อทรงทราบแน่ชัดว่า ยอนโฮแก ไม่ยกกำลังตีขนาบไล่หลังกองทัพแพคเจ ที่ยกกำลังทหารเสริมกลับมา และกองกำลังแพคเจ เหนือกว่า กองทหารหลวงโคคุเรียวทรงให้ถอยทัพนั่นคือการใช้กลยุทธ์

5.รู้สถานการณ์ ว่า เมื่อใด ควรออกสัประยุทธ์ เมื่อใดไม่ควรสัประยุทธ์ ถ้ากำลังทหารของเราน้อยกว่าข้าศึก เราก็จะวางแผนถอยทัพไว้ล่วงหน้า ถ้ากำลังทหารของเราอ่อนแอกว่ากำลังข้าศึก เราก็จะหาทางหลบหลีกไม่ปะทะกับข้าศึก การใช้กำลังทหารที่ด้อยกว่ายืนหยัดต่อสู้กับกำลังทหารของข้าศึกที่เกรียงไกรกว่า โดยไม่คำนึงข้อเท็จจริง สภาพแวดล้อมแล้ว ย่อมต้องพ่ายแพ้แก่ข้าศึก
ส่วนตำราของหวูจื่อ ก็บันทึกว่า ต้องมีจังหวะจะโคนในการบุกและการถอย
เมื่อถึงเวลาบุกจึงจะบุก เมื่อถึงเวลาถอยก็จักถอย
และจูมูชิก็ได้เรียนรู้กลยุทธ์นี้และนำไปใช้เมื่อพา บาซอน และ ดัลบี หนีออกจากค่ายทหารของ ยอนโฮแก และใช้อ้างอิงว่า ข้าเรียนรู้มาจากกษัตริย์

6.อันกำลังกองทหารนั้น แม้มีกำลังมากกว่า ก็อย่าผลีผลามบุกเข้าสัประยุทธ์ข้าศึก ต้องวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของข้าศึกได้อย่างถูกต้อง ต้องไม่ขาดความสุขุมคัมภีรภาพและไม่ประมาทกำลังข้าศึก
ทัมด๊กจะพระทัยเย็นมากในการวางแผน หรือสั่งการรบ ทุกครั้ง
เป็นความสุขุมรอบคอบของทัมด๊ก
ทัมด๊กส่งตำราการจัดเสบียงของ ดัลบี ให้ขุนพล โก อ่าน ขุนพล โก มีความเชื่อมั่นในองค์ ทัมด๊กมากเมื่ออ่านจบก็กราบทูลว่า เมื่อฝ่าบาททอดพระเนตรแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทบทวนอีกหม่อมฉันจะจ้างคนคนนี้
ทัมด๊ก ตรัสว่า “ไม่ว่าทหารจะสู้รบได้ดีขนาดไหนหากการสนับสนุนไม่ดีมันก็ไร้ประโยชน์”
ขุนพลโก ปลาบปลื้มใจเพราะตนเองเป็นคนสอน ทัมด๊ก ไว้เอง ทัมด๊ก ทรงถามต่อว่าถ้าข้าทำผิดเล่า?นี่เป็นความผิดของข้าคนเดียวหรือของท่านด้วยที่รับคำสั่งโดยไม่ไตร่ตรองเสียก่อน ขุนพลโกกราบทูลว่า มันเป็นความผิดของหม่อมฉันพะย่ะค่ะ

ทั้ง 6. ข้อข้างต้นนี้ เป็นตำราพิชัยสงครามของซุนจื่อ เป็นตำราแม่บทนานกว่าพันปี

ในตำราพิชัยสงครามของ หวูจื่อ

1.บทวิเคราะห์ข้าศึกและกำลังของข้าศึก
หมู่บ้านโคมิลมีบทบาทมากในการวิเคราะห์ข้าศึก แม้แต่กองทหาร 4 หมื่นนายของ ยอนโฮแก ก็ได้รับการวิเคราะห์ว่า ยากที่จะได้ชัยชนะต่อแพคเจ (มิใช่ว่ามีกำลังทหารมากจะทำให้ชนะศึกเสมอไป) ทัมด๊ก จึงต้องวางแผนออกไปช่วยแบ่งแยก กองกำลังทหารของแพคเจ ทรงตำหนิ ฮยอนโก และชาวโคมิลว่า ที่ให้เข้ามาในวังนี้ ไม่ใช่ต้องการฟังสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พวกท่านบอกเหตุผลว่าทำไมเป็นไปไม่ได้ แล้วเราจะชนะได้อย่างไร บอกข้ามาว่าทำอย่างไร จึงจะได้ชัยชนะ โดยใช้ทหารพวกนี้ และในเวลาที่กำหนดไว้
ป้อมปราการควานมีเป็นป้อมที่มีความสำคัญทางทะเลของแพคเจ เป็นที่ตั้งอู่ต่อเรือที่ใหญ่มาก ชาวยานและชีแห่งจีน และกษัตริย์องค์ก่อนๆของโคคุเรียว ล้วนต้องการเอาชนะ ป้อมปราการนี้ การไปป้อมควานมีทางบกต้องผ่านป้อมปราการอื่น ๆ 30 ป้อม ถ้าจะรบชนะต้องใช้ทหาร 5 หมื่นคน ใช้เวลา 3 เดือน
ถ้าไปทางน้ำ ซึ่งแพคเจมีกองทัพเรือที่ดีที่สุด ถ้าไปตามลำน้ำ จะผ่านป้อมปราการอื่น 10 ป้อมปราการนอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ไปถึงผู้บัญชาการของป้อมควานมีด้วย

2.หลักการเตรียมพร้อม
เมื่อปรึกษาหารือกันเสร็จ ทรงสั่งให้ ฮีกแก แห่งเผ่าจุนโน กลับไปจุนโนก่อน ทรงตรัสว่าเราต้องเตรียมตัวก่อน ข้าไม่สามารถนำพวกท่านไปสู่สงครามโดยไม่ได้เตรียมตัว(ฮีกแก อารมณ์ เดือดพล่าน ตบโต๊ะปัง เตรียมตัว เตรียมสิ่งใดพะย่ะค่ะ สิ่งที่ทรงต้องการ คือการเอาชนะ ไม่ใช่เตรียมตัวชนะ )
ทัมด๊ก ทรงตอบว่า ข้าจะทำตามวิธีของข้า ข้าจะไม่ต่อสู้กับสิ่งที่ข้าไม่ชนะ ทัมด๊ก ทรงมีความเด็ดเดี่ยวและแน่วแน่
การเตรียมการพร้อมของ ทัมด๊ก ในครั้งนี้ เป็นการเตรียม เรื่องปัจจัยของการทำสงครามต่างๆ เช่น กองกำลังทหาร(ให้จูมูชิ ไประดมพล ซีอู) เสบียง พาหนะ อาวุธ โล่ เสื้อเกราะ เป็นต้น แต่การเตรียมการอย่างพร้อมสรรพ ของ หวูจื่อ ทางกลยุทธ์ก็คือการเตรียมการอยู่ตลอดเวลา เสมือนหนึ่งพ้นจากประตูบ้าน ก็จักต้องมีศัตรูคอยจ้องอยู่แล้ว จะเห็นชัด เมื่อจะต้องเสด็จเข้า ปราสาทโกกแนของพระองค์เองโดยนำกองกำลังทหารเข้าไปด้วยไม่ได้ เพราะเทวีพยากรณ์โซคีฮา วางแผนไว้ ทรงคาดการล่วงหน้า ในสิ่งที่ขุนพล โก เอง ยังไม่คาดคิด ทูลถามว่า ทรงเชื่อหรือว่ากองทหารโคคุเรียวจะโจมตีพระองค์ข้างหลัง ( หมายถึงทหารจากป้อมต่าง ๆ นอกปราสาทโกกแน )
ทัมด๊ก ทรงคาดว่า จะมีการแอบอ้างชื่อ สภาเสนาบดี มีคำสั่งปลอมไปยังป้อมปราการต่าง ๆ ทรงให้ฮีกแก ถือตราประจำพระองค์ ไปควบคุมป้อมเหล่านี้ ควบคุม ไม่ให้รับคำสั่งจากบุคคลอื่น รวมทั้ง ให้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการรุกรานจากภายนอก ดังนั้นกองทัพเว่ยเหนือจึงบุกมาที่ปราสาทโกกแน ตามแผนการของแทจังโรไม่ได้ ทรงใช้ประโยคว่าเตรียมการพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด
นอกจากนี้ ยังทรงจำกัดพื้นที่การสู้รบไว้ว่าจะอยู่ที่บริเวณใด และให้ ศิษย์โคมิลไปตีฆ้องร้องเป่าให้ประชาชนในบริเวณ นั้นกลับเข้าเคหสถานของตัวเองเพื่อความปลอดภัย
เมื่อ จะทำการบุกยึดป้อม ซอคคยอนซอง ป้อมปราการแรกของแพค เจ ทรงคาดเดาไว้ว่า ป้อมปราการต้องส่งม้าเร็วออกไปส่งข่าวขอความช่วยเหลือจากป้อมปราการใกล้เคียง ทรงให้ เผ่าซีอู สกัดกั้นการส่งม้าเร็ว ( แล้ว จูมูชิและซูจินีจับตัวม้าเร็ว ไว้ได้ระหว่างทางและปลอมเป็นม้าเร็วแทน )
และในการไปเจรจากับเผ่าต่างๆที่คอรัล ตามเงื่อนไข ของพวกคอรัล เมื่อเผ่าคาราคิตัยแอบเอาพลธนูมาล้อมนอกกระโจม ทัมด๊ก ก็ได้สั่งการไว้กับ ฮยอนโก ไว้ล่วงหน้า ทำให้ไม่เสียเปรียบกับเผ่าต่างๆของคอรัล ด้วยการส่งเสียงแค่ ขู่ขวัญ เท่านั้น (การเตรียมการพร้อมก็เหมือนมีชัย ไปตั้งครึ่งแล้ว)

3.มีความเด็ดเดี่ยวและแน่วแน่ และมีเหตุผลประกอบการตัดสินพระทัยเสมอ
ข้าจะทำตามวิธีของข้า ข้าจะไม่ต่อสู้กับสิ่งที่ข้าไม่ชนะ
ในตำราของหวีเหลี้ยวจื่อ ใช้คำว่า จักต้องมีความมั่นใจอยู่ก่อน ถ้าไม่มีแผนจักเผด็จศึก ก็จักไม่คุยเรื่องการรบ ถ้าไม่มีความมั่นใจตีข้าศึกแตก ก็จักไม่พูดเรื่องการบุก

4. จุดอ่อนที่จักต้องตีข้าศึก (แต่ไม่ทรงใช้กลยุทธ์นี้)
หวูจื่อ กล่าวไว้ว่า ต้องพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งความตื้นลึกหนาบางของข้าศึก แล้วจึงเข้าตีจุดอ่อนของข้าศึกซึ่งดูเหมือนละคร จะสื่อว่า ฮีกแก ผู้นำจุนโน ก็น่าจะคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่า ทัมด๊ก ทรงคิดสวนทางกลับ ทรงบอกว่า เราจะไม่โจมตีป้อมปราการเล็กเพื่อให้ป้อมปราการใหญ่ได้มีเวลาเตรียมตัวในการตั้งรับป้องกันตนเอง ทรงให้ทหารองครักษ์ และคนของซีอู โจมตีป้อมปราการซอคคยอนซอง ป้อมปราการด้านตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดของป้อม ควานมี ส่วนฮีกแก แกล้งโจมตีป้อมควานมี เพื่อไม่เปิดเผยตัวเอง ว่ามีกองกำลังทหารเล็กแค่ไหน
และนี่ก็เป็นตำราพิชัยสงครามอีกข้อหนึ่งของหวูจื่อ เอง นั่นคือ

5.การ พลิกแพลงใช้กลยุทธ์ ตามสถานภาพ นอกจากเป็นกลยุทธ์ของ หวูจื่อ แล้วก็เป็นกลยุทธ์ของ ซุนจื่อ ด้วย

6. ประกาศไม่ทำร้ายประชาชนในเขตยึดครอง
ทัมด๊ก ห้ามมิให้มีการต่อสู้ในส่วนในของป้อมปราการ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แค่ให้สร้างความหวาดกลัวในจิตใจของศัตรู ห้าม ทหารโคคุเรียวฆ่าคนที่ไม่มีอาวุธ หรือไม่คิดต่อสู้ ห้ามทำร้ายผู้หญิง ห้ามปล้นทรัพย์สินของศัตรู
ทัมด๊กมีพระบรมราชโองการไปยังทุกป้อมปราการที่ยึดได้
ใครก็ตามที่ร่วมมือกับโคคุเรียว จะถือเป็นพี่เป็นน้อง สิ่งของในคลังผู้บัญชาการเป็นของประชาชนของป้อมนั้น อย่าทำอันตรายประชาชนในป้อม ทหารที่ไม่คิดต่อสู้กับโคคุเรียว จะไม่ถูกจับเป็นเชลย และไม่ถูกจัดการใดๆ ถ้าทหารในป้อมยอมวางอาวุธ จะอนุญาตให้ออกจากป้อมปราการของตน เพื่อไปส่งข่าวป้อมปราการที่อยู่ถัดไป โคคุเรียวรอคอยความจงรักภักดี
สิ่งเหล่านี้ เป็นกลยุทธ์ของตำราพิชัยสงคราม

7. การใช้หลักการ บารมี พลานุภาพ คุณธรรม เมตตาธรรม ความกล้าหาญ
ทรงเข้าไปป้อมควานมีเพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนที่จะ คืนป้อมปราการที่ยึดได้ ทั้ง 10 ป้อม เพื่อ แลกตัว ซูจินี โดยปลอมพระองค์ เป็นทูต ผู้นำสาสน์ และเสด็จไปพระองค์เดียว ในขณะนั้น ทรงรู้สึกกับ ซูจินี เพียง น้องสาว หรือทหารคนหนึ่งของพระองค์ มิใช่ สนิทเสน่หาแบบคนรัก ย่อมทำให้เกิดความเลื่อมใส ของกองกำลังทหาร เป็นที่หวาดกลัวของข้าศึก เมื่อเกิดปัญหา ก็วินิจฉัยได้ถูกต้องฉับพลัน เมื่อออกคำสั่งจักไม่มีใครขัดขืน

8. การเลี้ยงม้าศึก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของตำราพิชัยสงคราม หวูจื่อ
ม้าศึกและคนขี่ต้องรู้ใจกันสนิทแนบแน่น สามารถใช้มันได้ตามต้องการ ขุนพลต้องเลี้ยงม้าศึกด้วยตนเองด้วยจะมีภาพที่ ทัมด๊ก แปรงขนม้า ด้วยพระองค์เอง ในตอนที่17 (คนเขียนต้องการสื่อกลยุทธ์นี้ ละครถึงต้องมีภาพนี้)

9. จงหลีกเลี่ยงการปะทะกับข้าศึกที่ทุ่มกำลังสุดตัว
ในการไปคอรัล พบชนเผ่าทั้ง 8 ที่ยอนโฮแก บุกเข้าไปฆ่า และเผา หมู่บ้านของชนเผ่าต่างๆ โดยไม่มีเหตุผล ทำให้หัวหน้าเผ่าทั้ง 8 เจ็บแค้นมุ่งมั่นและ กระหายใคร่แก้แค้นกับทหารโคคุเรียว ทัมด๊ก พยายามไม่ปะทะศึก เพราะย่อมเกิดความเสียหายมากมาย พยายามใช้ ทำสัมพันธ์ไมตรี การเจรจาต่อรอง

ในหลักการตำราพิชัยสงครามของ หวีเหลี้ยวจื่อ (นักการทหารของจิ๋นซีฮ่องเต้) ก่อนคริสต์ศักราช 237

1.ร่วมทุกข์ร่วมสุข กับทหารหาญ
จะมีภาพ บางครั้ง ทัมด๊ก พระราชดำเนินทักทายกับเหล่าทหารชั้นผู้น้อยเสมอๆในบริเวณที่ ทัมด๊ก เสด็จผ่านบรรดาทหารเหล่านั้น บางครั้งก็เสวยพระกระยาหารด้วยถ้วยชามและอาหารเหมือนทหาร ประทับนั่งอยู่กับทหารชั้นผู้น้อย แม้แต่ช่วงแรกในระหว่างเตรียมเสบียงยังไม่ออกรบ ก็ทรงทักทาย ดัลบี ว่า
“เจ้าเป็นหัวหน้าเสบียงใช่ไหม ข้าต้องพึ่งเจ้า ชัยชนะของพวกเรา ขึ้นอยู่กับบ่าที่ใช้แบกของของเจ้า ดูแล พวกเราด้วย “
ก่อนเคลื่อนพลออกจากโคคุเรียว ก็ทรง ถามบรรดาแม่ทัพว่า ท่านไปหาครอบครัวแล้วหรือยัง ภรรยาท่านตั้งครรภ์หรือ ลูกชายท่าน 2 ขวบ แล้ว ใช่ใหม่ บางครั้งก็ทรงกระเซ้าเย้าแหย่แม่ทัพเช่นทำไมสองครอบครัวนี้ไม่เกี่ยวดองกันเสียล่ะ แสดงว่ามีความสนพระทัยไปถึงครอบครัวของบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลาย
ในยามว่างปลอดโปร่ง ก็ ทรงประลองกำลัง เล่นสนุก ๆ กับบรรดาทหาร เพื่อผ่อนคลายความเครียดและทำให้เกิดความสนิทสนมกลมเกลียวในหมู่ทหาร.
ในตำราศึกก็กล่าวเกินไปเช่นผู้นำทัพต้องยอมเสี่ยงอันตรายและยอมลำบากก่อนเพื่อทหารหาญ เมื่อหิว กระหายน้ำต้องรอให้เหล่าทหารหาญดื่มก่อน ยามหิวก็กินที่หลัง ฯลฯ(ก็เกินไป ถ้าผู้นำทัพเป็นอะไรไปก่อนชนะศึก ใครจะสั่งการบัญชาการ) เอา อย่างย่นย่อพอเหมาะพอควรเปรียบเทียบแค่ว่า การร่วมทุกข์ร่วมสุข นอนกลางดินกินกลางทรายกับเหล่าทหารหาญก็พอแล้ว ไหม ?

2.เมื่อเห็นว่าจักได้ชัยชนะแน่นอน จึงจักทำสงคราม ถ้ารบชนะยากนักแล้ว ก็ต้องหาทางยุติสงคราม
(กรณี แลกตัว ซูจินี ด้วยการจะคืนป้อมปราการที่ทรงยึดได้ 10 ป้อม คืนให้ควานมี ถือเป็นการยุติสงครามกับป้อมควานมีนี่คือกรณี ว่าทำศึกต่อสู้กันไปแล้ว)

หลักการของ ซือหม่าฝา แห่งรัฐ ฉี ในสมัยชุนชิว (กลียุคของจีน ที่รัฐต่างๆ แย่งความเป็นใหญ่ก่อนที่จื๋นซีฮ่องเต้รวบรวมอาณาจักร)

1.เมื่อไม่อาจใช้ธรรมมานุภาพได้ จึงจักใช้แสนยานุภาพ เช่นการฆ่าฟัน ทหารฮวาเซิน ส่วนการใช้ ธรรมมานุภาพ จะเห็นในตอน ที่ ทรงไว้ชีวิต กษัตริย์ อาชิน ที่ยังเล่าเรื่องไม่ถึงตอนนี้
2.สงบ เยือกเย็น
3.เข้าใจละเอียด มองก็ยิ่งชัดเจน
ในข้อ 2 และ 3 นี้ คงไม่ต้องลงรายละเอียด ให้เยิ่นเย้อ เพราะมีหลายตอนมาก

หลักการของหลี่เว้ยกง ในราชวงศ์ถัง

1. พระคุณ จักต้องมาก่อนพระเดช สร้างพระคุณให้ทหารรัก ทะนุถนอมทหารหาญให้เลื่อมใสศรัทธาก่อนแล้วจึงสร้างบารมีให้เหล่าทหารหาญยำเกรง ทรงใช้กับ ฮีกแก ของจุนโน และ จูมูชิ ทหารรับจ้างแห่งเผ่าซีอู

2. รู้เขารู้เรา
ก่อนอื่นจำต้องเตรียมการพร้อมสรรพจนข้าศึกมาสามารถพิชิตได้ นั่นคือการรู้เรา(รู้สถานภาพของตัวเราเอง) ครั้นแล้วก็รอคอยจังหวะที่จักสามารถเอาชนะข้าศึกได้ (นั่นคือรู้เขา รู้สถานภาพหรือเส้นสนกลในของข้าศึก) การเตรียมการให้พร้อมสรรพที่ข้าศึกมาสามารถจักพิชิตได้อยู่ที่ฝ่ายตน การถูกรอคอยจังหวะที่จักเข้าพิชิตอยู่ที่ฝ่ายข้าศึก

3.ขวัญกำลังใจทหารมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
ในการออกรบครั้งแรก ทัมด๊ก ทรงบอกกับเหล่าทหาร ข้อที่สามว่าห้ามมิให้ใครตาย ข้าไม่ต้องการให้ใครมาตายเพื่อข้า จงมีชีวิตอยู่เคียงข้างข้า
นี่คือคำสั่งของกษัตริย์ของเจ้า
เมื่อบาซอนถูกยอนโฮแก จับตัวไป เพื่อจะไปหาสัญลักษณ์เสือขาว ฮีกแก ได้รับคำสั่งออกตามกับ จูมูชิ ฮีกแกทูลว่า หากเห็น บาซอน อยู่ในค่ายทหารของโฮแก จะฆ่า บาซอน ทิ้งเพื่อไม่ให้ บอกความลับกับ ยอนโฮแกได้ ทัมด๊ก ทรงห้ามและบอกว่า บาซอน ช่วยชีวิตคนของพระองค์มากมายด้วยฝีมือตีเหล็กของนาง อย่าทำร้าย บาซอน เป็นอันขาด ฮีกแก สะอึกเลย แต่ก็ต้องบังเกิดความซาบซึ้งในพระเมตตาของ ทัมด๊ก
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำวิสามัญฆ่าตัดตอน กันมากกว่า บ้านเราก็ฮิตมากสมัยหนึ่ง
ข้ายังไม่รู้ว่ากองทหารแพคเจจะกลับไปหรือพยายามโจมตียึดป้อมปราการควานมีคืน ในฐานะกษัตริย์ข้าไม่ควรบอกพวกเขาว่า เราอาจจะพ่ายแพ้ (ทหารต้องเสียขวัญหมดกำลังใจ)
ในตอนที่24 ทัมด๊ก มีทหารแค่ 4 หมื่นนายในขณะที่ ฮวาเซิน ที่มียอนโฮแก เป็นแม่ ทัพ มีทหารถึง 1 แสนนาย จะเห็นทัมด๊ก มีพระดำรัสกับบรรดาทหารแล้ว ทหารแถวหน้าที่ได้ยินสุรเสียง พากันหัวเราะ ไม่ได้หวั่นเกรงต่อกองทัพข้าศึก ตรงหน้า ที่มีจำนวนมากกว่า เท่าตัว

4.อันการทหารนั้นย่อมมีเล่ห์อุบาย ความสำเร็จอยู่ที่ฝีมือของคน
การจะหลอกศัตรูได้เราต้องหลอกพวกเดียวกันก่อน ทรงบอกเสนาบดียอนว่าจะไปล่าสัตว์ฝากเสนาบดียอนดูแลบ้านเมืองสักระยะแล้วก็เสด็จออกนอกปราสาทไปรวมพลที่แคว้นจุนโน
เราต้องไม่เปิดเผยว่ากองทหารเราเล็กขนาดไหน
ทรงต้องการให้กองทหารเป็นเหยื่อล่อดึงความสนใจของกองกำลังเสริมที่แพคเจส่งไปช่วยรบกับยอนโฮแกเพื่อให้ทหารแพคเจล้มเลิกการยกทัพมุ่งหน้าไปหา ยอนโฮแก
เราจะไม่ต่อสู้ด้วยดาบและทวน อาวุธในสนามรบคือความกลัวเราจะเป็นกองทัพที่หวาดกลัวที่สุดไม่เข้าประจัญบาน(เพราะทรงมีกำลังทหารน้อยมากกว่าข้าศึก)
กองทหารกำลังเสริมของแพคเจไม่รู้ว่าเรามีทหารแค่ 3 พันนาย (รวมทั้งบาดเจ็บ) ให้เขาคิดเป็นอย่างอื่น
ข้าให้ทหารแพคเจกลับไปป้อมปราการทั้งสิบและคุ้มครองคนของตัวเองตามป้อมปราการต่างๆแต่ครอบครัวของพวกเขา แม่ทัพและผู้บัญชาการยังคงยู่ในป้อมควานมี(เพื่อเป็นตัวประกัน)

การเป็นกษัตริย์ช่างยากเหลือเกินต้องพูดปดและขู่เข็ญกษัตริย์ต้องเก่งในเรื่องเหล่านี้

คนเขียนบทใช้วิชาตำราพิชัยสงครามหลายปรมาจารย์เลย ก็ต้องให้สมกับความเกรียงไกรของกษัตริย์พระองค์นี้ถ้าขืนทำการรบแบบในเรื่องกษัตริย์จูมงนั่งพูดพูดไปพูดมาไม่กี่ประโยค ก็ออกไปฟาดฟันกัน แล้วก็ชนะสงครามได้แล้วใช้หลักจิตใจห้าวหาญไม่กลัวตายของแม่ทัพกับความเชื่อมั่นในตัวจูมง มีเงิน มีเสบียงจากซอซอนโนก็รบชนะแล้วไม่ต้องวิเคราะห์ข้าศึกไม่ต้องวางกลยุทธ์ไม่ต้องวางยุทธวิธี ทั้งที่มีการรบตั้งแต่ประมาณแผ่นที่50 กว่าๆ จนจบเรื่อง81แผ่น( แต่ คนเล่า ดูแบบไม่ได้ตั้งใจดูก็เลยอาจจะมองไม่เห็นก็ได้ขออภัยล่วงหน้าไว้ก่อน นี่ไม่ได้ ตั้งใจ โจมตี ละคร เรื่อง จูมง เจตนา เพียงชี้ให้เห็นความแตกต่างของการเขียน บท เท่านั้น อย่างไรเสีย คนเล่า ก็ มีความเคารพชื่นชม กษัตริย์ จูมง ที่ทรงรวมชาติได้สำเร็จ และขับไล่ ฮั่น ออกไปได้ในขณะนั้น เพียงแต่ ติงคนเขียนบท ที่ ไม่สื่อความ เกรียงไกร เก่งกาจของพระองค์ให้เห็นเด่นชัดเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับองค์กษัตริย์ แน่นอน)

แต่ของ ทัมด๊ก ช่วงที่เริ่มประชุมครั้งแรก ระหว่าง ทัมด๊ก ฮีกแก และหัวหน้าโคมิล ผู้อาวุโสโคมิล ใช้เวลา มาก กับการวิเคราะห์สถานการณ์ (ตอนที่ 12 )
และในพื้นฐานความจริงว่า ทัมด๊ก มีกองกำลังทหารเล็กมาก

มาลองดูยุทธวิธีของ ทัมด๊กที่เห็นเป็นรูปธรรมกัน

ยุทธวิธีเข้ายึดป้อมซอคคยอนซองเป็นการสงครามครั้งแรกของ ทัมด๊ก กับเหล่าทหารจุนโนของผู้นำแคว้น ฮีกแกและคนเผ่าซีอูของจูมูชิ

นำหน้าด้วยพลธนูที่มีทั้งหัวธนูเหล็กกล้าแกร่ง วิถีของลูกธนูที่เที่ยงตรง และระยะทางไกลของลูกธนูที่ไกลกว่าเดิม แถมด้วยโล่ ป้องกัน ที่มีแต่หัวลูกธนูของ บาซอน เองเท่านั้นที่จะยิงทะลุได้เป็นกองหน้าเบิกทาง

ศิษย์โคมิลที่แอบปะปนกับประชาชนของป้อมที่อยู่ภายในป้อม เป็นผู้เปิดประตูใหญ่รับทหารโคคุเรียว
คนของเผ่าซีอูจะช่วยทลายประตูใหญ่.ให้เร็วที่สุดมีพลธนูคอยเป็นแนวป้องกันให้

ทหารราชองครักษ์ในสังกัดของขุนพลโก ช่วยสกัดกั้นศัตรู ทั้งภายนอกประตูและเมื่อเข้าประตูป้อมได้แล้วเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเพราะต้องการความรวดเร็ว

ห้ามต่อสู้เมื่อเข้าไปภายในป้อมได้แล้ว สิ่งที่ต้องการ คือการติดป้ายประกาศของโคคุเรียว แค่สร้างความหวาดกลัวให้ศัตรูด้วยยุทธการที่รวดเร็วของการปฏิบัติการเข้ายึดป้อม

คนของซีอู ต้องไปถึงป้อมโอ๊คซุนก่อนที่ม้าเร็วของป้อมซอคคยอยซองจะนำสารส่งข่าวไปถึง

สำหรับยุทธวิธีการนำทหารโคคุเรียวเข้าไปเคลียร์สถานการณ์ในปราสาทโกกแนของทัมด๊กเอง

ให้ขุนพล โก วางกำลังรอบปราสาทโกกแน แค่ล้อมรอบบริเวณอย่าเคลื่อนไหวจนกว่าจะมีคำสั่งจาก ทัมด๊ก

ศิษย์โคมิลที่อยู่ภายในปราสาทโกกแนตีฆ้องร้องเป่าให้ประชาชนกลับเข้าเคหสถานบ้านเรือน ประชาชนต้องอยู่นอกเขตอันตรายที่กำหนดไว้เป็นจุดของสนามรบ

เมื่อได้คำสั่งทหารองครักษ์เคลื่อนไปยังประตูทั้งสี่ของปราสาทโกกแน เข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ให้ได้
ชอโร(ผู้พิทักษ์มังกรน้ำเงิน)เปิดประตูทิศตะวันตก (ทัมด๊ก ทรงให้ตั้งค่ายทหารไว้ที่ด้านใต้ของปราสาทโกกแน) คอยช่วยขุนพล โก และกองทหารให้เข้ามาในปราสาทอย่างเร็วที่สุด

ให้ขุนพล โก จำกัดบริเวณควบคุมบ้านพักตระกูลยอนไม่ให้มีใครเข้าออก ห้ามยั่วยุให้พวกเขาโกรธเพราะที่นั่นมีตัวประกันคือคณะสภาเสนาบดีของโคคุเรียว ผู้นำแคว้น จากนั้นให้รอคำสั่งของ ทัมด๊ก

ส่วนทัมด๊ก จูมูชิ ซูจินี และชอโร กับทหารติดตามไม่กี่คน ล่วงหน้าเข้าประตูปราสาทโกกแน แล้ว ทัมด๊ก จะแยกไปอารามหลวง จูมูชิ และ ซูจินี ไปสังเกตการณ์เก็บรายละเอียด ความเป็นไปในปราสาทโกกแน

กำหนดเวลา ลงมือปฎิบัติการ พร้อมกัน คือ เวลา เที่ยงวัน โดย ดู ดวงอาทิตย์ ตรงศรีษะ

ชอโรไปคอยที่ประตูตะวันตก

แล้วทัมด๊ก ก็ไล่พวกฮวาเซินทั้งตายทั้งแตกกระเจิดกระเจิงกระจุยกระจาย นับแต่ แทจังโร และสาวกฮวาเซิน ออกไปจากปราสาทโกกแน

ทัมด๊ก เป็นนักการเจรจาต่อรอง

การเจรจาต่อรองที่มีประสิทธิภาพ คือการที่ทั้งคู่ เจรจา Win-Win
ทรงไม่ใช้เงินจ้างจูมูชิ มาเป็นทหารให้พระองค์ เพราะไม่มีเงินจ่ายอย่างเดียวคงไม่ใช่ เพราะถ้าการเป็นทหารที่จะต้องออกรบ เพียงเพื่อเงิน จะไม่ได้รับความทุ่มเท กำลังกาย กำลังใจจากคนของเผ่าซีอูแน่นอนแต่ทรงให้ข้อเสนอ ในเรื่องการ คืนดินแดนของเผ่ามัลกัลที่ถูกแบ่งกระจัดกระจาย ทรงโน้มน้าวให้จูมูชิเห็นภาพการใช้ชิวิต สงบ เป็นสุข ไม่เร่ร่อน ของชีวิตบนแผ่นดินที่จะทรงคืนให้
ฮีกแก โมโหกับการที่ ทัมด๊ก วางแผนการช่วยเหลือ ยอนโฮแก แถมปิดทองหลังพระ หากเหตุการณ์เป็นไปตามแผน ยอนโฮแก คือผู้ชนะศึก ทัมด๊ก ตรัสถามว่า ท่านเลือกเอา ว่าจะ ต่อสู้กับพวกแพคเจ หรือ ต่อสู้ กับยอนโฮแก
เมื่อไปเจรจากับ 8 ชนเผ่าที่คอรัล ข่าน ผู้นำไม่รับการทำสัมพันธ์ไมตรี การทำการค้า จะรบให้ได้ รวมทั้ง ทัมด๊ก อยู่ในที่ล้อมของ ชนเผ่า ทัมด๊ก ไม่สะทกสะท้าน (เพราะมีการเตรียมการพร้อมสรรพ รับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของการมาเจรจาครั้งนี้ ไว้ล่วงหน้าแล้ว) ทรงถาม ข่านผู้นำ 8 ชนเผ่า ว่า ท่านจะฆ่าข้า แล้ว ปล่อยให้ กบฏ ยอนโฮแก ขึ้นเป็นกษัตริย์ และทำสงครามกับ ยอนโฮแก หรือ ข่านแห่งคอรัล อึ้งสนิท ถูกน๊อคเอ้าท์ แบบ ฮีกแก ที่โดนบ่อย ๆ ไปอีกคน (อาวุธ ที่ทรงอานุภาพของ ทัมด๊ก อีกประการ คือ ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไหม ? )

ทัมด๊ก เป็นนักปรัชญา นักจิตวิทยา ที่เข้าใจจิตใจมนุษย์ได้ดีมาก

เมื่ออยู่ที่ป้อมปราการควานมี ทรงวินิจฉัย ความคิดละแนวทางของกษัตริย์ จินซา และองค์ชาย อาชิน แห่งแพคเจได้อย่างถูกต้อง
“คนเราที่มัวเมากับความโลภในราชสมบัติ เขาก็จะไม่คิดถึงแผ่นดินและคนของเขา กษัตริย์ จินซา คงหวังว่าองค์ชาย อาชินจะต่อสู้กับข้าและสูญเสียกองทหารไปและจะเป็นกษัตริย์ต่อไปได้ กษัตริย์ จินซา จะไม่ส่งกองกำลังทหารมาเสริมให้องค์ชาย อาชิน ส่วนองค์ชาย อาชิน ที่ไม่รู้ว่า เรามีกองกำลังทหารจริงจำนานเท่าไร ก็จะไม่สู้รบกับเรา ให้เกิดความสูญเสียกับกองกำลังทหารขององค์ชายที่มีอยู่ เพราะจะทำให้เกิดความเสียเปรียบต่อกองกำลังทหารของกษัตริย์ จินซา เราจะทำให้องค์ชาย อาชิน เข้าพระทัยว่า เรามีมีกำลังทหารหลายหมื่น ด้วยคนและทหารของแพคเจเองที่เป็นคนปล่อยข่าวลือ

เมื่อ ทัมด๊กกลับปราสาท โกกแน ขับไล่ แทจังโร และฮวาเซินออกไป ไม่ทรงเอาผิด ทั้งเสนาบดียอนและเทวีพยากรณ์โซคีฮา ทรงมีพระดำรัสกับคณะขุนนางและสภาเสนาบดี โคคุเรียว ในท้องพระโรงว่าข้าขอถามพวกท่านสักข้อในฐานะ คนของโคคุเรียว ว่า กษัตริย์แบบไหนที่ท่านต้องการ ท่านไม่สนใจว่าเป็นใคร ขอให้เป็นคนมีสัญลักษณ์เก่าคร่ำคร่าของตำนานก็พอหรือ สองพันปีที่ผ่านมา จูชินเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุม ทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออกและตะวันตก พวกท่านต้องการดินแดนเหล่านั้นถึงได้ต้องการกษัตริย์จูชิน ดินแดนเหล่านั้นข้าจะเอามาให้พวกท่านอย่างไร ถ้าข้าต้องฆ่า ชาย หญิงเด็ก คนชรา สัตว์ต่างๆ แล้วแผ่นดินของพวกเขา ตกเป็นของเรา บรรดาลูกหลานของพวกเขาเหล่านั้นคงสาบานแก้แค้นกับพวกเราแล้วก็ต่อสู้กันอีก ฆ่า และฆ่า กันต่อไปไม่สิ้นสุด หากท่านให้เวลากับข้า ข้าจะเอาป้อมปราการแพคเจมาให้อีกนับสิบ โดยไม่ต้องทำสงคราม ถ้าท่านให้เวลาข้าอีกนิด เราจะแบ่งแพคเจออกเป็นสองส่วน และจำกัดพวกนั้นไว้ เราจะทำให้ชิลลาหันหลังให้แพคเจ ส่วนชนผ่าต่างๆเราจะเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามค้า เราจะเป็นศูนย์กลางให้สิ่ง (สินค้าและพืชผลต่างๆ)ที่แต่ละชาติ ต้องการ พวกเราทั้งหมดกลายมาเป็นพี่น้องกัน มีความสงบสุขเป็นร้อย ๆปี พวกท่านยังต้องการต่อสู้รบราเพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการแก้แค้นอีกหรือ

นอกจากนี้ ยังใช้ความโลภของพ่อค้าและเหล่าขุนนางของโคคุเรียว ในการให้การสนับสนุน จัดเสบียงให้ ทัมด๊ก นำไปใช้ ในยุทธวิธี ผูกมิตร ทำการค้ากับชนเผ่า เทือกเขาคอรัล มีพระราชโองการว่า ทรงกำลังรวบรวมเสบียงเพื่อพระราชภารกิจขอให้ท่านทั้งหลายร่วมมือให้เต็มความสามารถ ประเทศจะไม่จ่ายเงินใด ๆให้กับพวกท่าน แต่จะทรงให้สิทธิทางการค้าเกลือ ขึ้นกับจำนวนความอุดหนุนที่พวกท่านให้ในคราวนี้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคอรัลหลังจากข้ามภูเขาไปมีดินแดนแห่งเกลือที่กว้างใหญ่ไพศาลพอๆกับทะเล เรากำลังจะไปเอาเกลือมาจากที่นั้น

ทรงมีผลงานให้ประจักษ์ในฝีมือของพระองค์มาแล้ว จึงไม่เป็นการคุยอวดโอ่ ว่าจะทรงไปเอาเกลือเหล่านั้นมาได้ ทรงสร้างบารมี และแสนยานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้ว

เมื่อ พิจารณา ดูรายละเอียดของ แผนการรบของทัมด๊ก แล้ว น่าทึ่ง มาก จริงๆ นึกไปนึกมาก็ยิ่งใกล้เคียง ระหว่าง

แผนการรบ กับ แผนธุรกิจ เริ่มจาก

1.วัตถุประสงค์ เช่น เพื่อ ดึงกองกำลังเสริมจากป้อมปราการต่างๆของแพคเจที่ไปช่วยแพคเจรบ กับยอนโฮแก ให้นำกองทัพกลับ และให้ ยอนโฮแก ยกทัพตีขนาบไล่หลัง
2.เป้าหมายที่ต้องการ ตีป้อมปราการ ให้ได้ชัยชนะ 10 ป้อม ภายใน 20 วันและไม่ให้เสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น
3. วิเคราะห์ SWOT ในการ ทำศึก
วิเคราะห์ Strengths , Weaknesses, Opportunities , Threat
จุดแข็ง จุดด้อย โอกาส อุปสรรค ของข้าศึกโดยดูทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน วิเคราะห์สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศแพคเจ ความจงรักภักดีของประชาชนและป้อมปราการต่างๆของแพคเจ ต่อกษัตริย์และองค์ชายของแพคเจ สถานการณ์ทางการเมืองภายในของแพคเจ กำลังกองทหารของแพคเจของฝ่ายกษัตริย์ จินซา และองค์ชาย อาชิน โอกาสและอุปสรรคของกษัตริย์ จินซา และองค์ชาย อาชิน
4. การกำหนดแผนปฏิบัติงาน action plan
4.1 กำหนดกลยุทธ์ โดยใช้หลักการตามตำราพิชัยสงคราม
4.2 กำหนดยุทธวิธี การรบ เป็นขั้นตอน เห็นได้ชัด
4.3 กำหนดผู้รับผิดชอบ แต่ละขั้นตอน รวมทั้งระยะเวลา
5 . ติดตามประเมินผล ถ้าเกิดปัญหาอุปสรรค และผลงานไม่เป็นไปตามที่วางแผนมีการปรับเปลี่ยนแผนงาน วางกลยุทธ์ใหม่
แผนการรบของ ทัมด๊ก กับแผนธุรกิจ สมัยใหม่ ช่างไปกันได้ ดีเลย

War Room ของ ทัมด๊ก ทั้งในปราสาทโกกแน หรือ หมู่บ้านโคมิล และ ในค่ายทหาร ดูดีมากในตอนต้นก็ใช้นิ้วมือ คนอธิบาย ไล่ชี้ไปตรงโน้นตรงนี้ของแผนที่ ระยะหลังมีการพัฒนา ใช้ไม้ชี้ เมื่อแรก แผนที่ก็กางบนโต๊ะ แล้วก็พัฒนาเป็นการติดฝาผนัง ละคร สื่อ ว่า ทัมด๊ก เป็น กษัตริย์ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ความคิดอ่านล้ำหน้า พัฒนา ไปรวดเร็ว การวางแผนการรบ ขนาด ฮีกแก ผู้นำแคว้นจุนโน ที่มีอายุมาก และมีประสบการณ์ เจนศึก มาแล้ว ยังตาม ทัมด๊กไม่ค่อยทัน แล้วตามมาด้วย เริ่มมีอาลักษณ์คอยจดบันทึกเรื่องราว การประชุมต่างๆ นอกจาก war room ยังมีห้องใหญ่ อีกห้อง เป็นที่ทำงานของคณะทำงานของ ทัมด๊ก ส่วนใหญ่ จะเป็นศิษย์โคมิล (ควรจะเรียกห้องอะไรดี ) เป็นห้องที่เสนาบดี ยอนการยอ เข้าไปเยี่ยมชม (ก่อนไปขโมยสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์) เข้าไปดูการทำงานแล้วยังทึ่ง อึ้งกิมกี่ไปเลย ในประวัติศาสตร์ ทัมด๊ก ทรงวางโครงการพัฒนาประเทศ ไว้มากมาย ที่ละคร สื่อไว้ ก็มีการตั้งหน่วยงาน Jangsa และ Chamgoon เป็นต้น แล้วคงมีอีกหลายๆ โครงการที่ทรงริเริ่มแล้วพระโอรส มาสานต่อจนสำเร็จ คงคล้าย ๆ โครงการในพระราชดำริ ของในหลวงของเรา

แล้วก็ ในตอนที่ 21 ที่ ทัมด๊ก ไปเจรจากับ ชนเผ่าเขาคอรัล จะเห็นชัด ที่ มีคนคอยบันทึก ข้อตกลงของการเจรจาความเมืองทั้งที่ จำนวนคนที่จะเอาไปได้เพียง 7 คนรวมทั้ง ทัมด๊ก อาลักษณ์คนนี้ ไม่เป็นวิชาการต่อสู้ด้วย เพราะ ทรงต้องการให้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เป็นครูให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้นั่นเอง

และในละครตอนที่ 24 มีตัวอักษรจารึกที่แท่งหินบูชาของวัดอาบูลันซา บอกเล่าความเป็นไปของ โคคุเรียว จนสิ้นรัชกาลของกษัตริย์ กวางแกโต มหาราช นั้น
มีการกล่าวใน Wikipedia ว่า กษัตริย์ Jangsu ได้สร้างแผ่นจารึก สรรเสริญ พระองค์ไว้ ใน ปี ค.ศ.414

เมื่อ คอนเซปของละคร บอกว่า ทัมด๊ก มีพระทัยอ่อนโยน แล้วจะทำศึก แบบไหนกัน ถึงได้เป็นกษัตริย์ที่เกรียงไกร บุกไปที่ไหนก็ ได้รับชัยชนะที่นั่น ท่านผู้ชม บางท่าน อาจรู้สึกว่าเว่อร์ไปหรือเปล่ากับจริยาวัตรของทัมด๊ก นี่เราดู ทัมด๊ก หรือ ดู เบ ยองจุน กันแน่ ก็เพราะผู้กำกับมองแล้วว่า บทแบบนี้ ต้องให้ เบ ยองจุนแสดงนั่นเองมี คนถามว่า ทำไมไม่เป็น ควอนซังวู รับบทนี้ คิมจองฮักบอกว่า ควอนซังวูถ้าจะเล่นเรื่องละครประวัติศาสตร์คงต้องเป็นตัวละครเช่น เจงกีสข่าน และก็ไม่เวอร์เรื่องการรบ เป็นไปตามตำราพิชัยสงคราม

ซงจีนา ต้องหาว่า ทัมด๊ก ที่มีแค่กองทหารองครักษ์ของขุนพลโก เท่านั้น จะทำอย่างไร ที่จะขึ้นมาเป็นมหาราชที่ยิ่งใหญ่ มีกองทัพที่มีแสนยานุภาพ สะท้านคาบสมุทรเกาหลี แผ่ไปถึงแมนจูเรีย (โอ้โฮ งานหนักนะนี่)

24 ตอน ของละคร เรื่องนี้ มีเนื้อหาสาระน่าสนใจ มากมาย คนเล่า ถึงชื่นชม การสื่อความของบทละคร
(แม้ว่าจะงวยงง ลมจับไปหลายพัก กับตอนจบ จนเรียบเรียงเสียงประสานสติของตัวเองไม่ได้ไปหลายวัน เหมือนตกหน้าผาแบบคาจิน เมื่อ 2 พันกว่าปีโน่น ในขณะที่ดูตอนจบ ไปเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 )

เช่น ภาระหน้าที่ ต่อ ส่วนรวมของระดับผู้นำ สำคัญ กว่าเรื่องส่วนตัว ของ หัวหน้าโคมิล ฮยอนโก ของกษัตริย์หยาง ของ เทวีพยากรณ์สมัยกษัตริย์หยาง
กษัตริย์ ต้องรักษาบาดแผล ให้หายได้ในวันเดียว

โดยเฉพาะ ความรักที่ยิ่งใหญ่ เสียสละตัวเองที่พ่อแม่ มีให้กับลูก เช่น พระบิดา พระมารดาของ ทัมด๊ก มีต่อทัมด๊ก ของท่านหญิงยอน และเสนาบดียอนที่มีต่อ ยอนโฮแก ส่วนโซคีฮา ซึ่ง รัก ทัมด๊กมากมาก ถึงแม้ว่าความรักที่มีต่อทัมด๊กจะเป็นรักที่เห็นแก่ตัว ต้องการแต่จะต้องได้ครอบครอง แต่ก็เป็นความรักที่รวมมาของทั้ง 2 ชาติภพ ไม่เคยสนใจความยิ่งใหญ่ของอำนาจ ที่ แทจังโร พูดกรอกหูมาตั้งแต่เด็ก แต่ เมื่อต้องมีชีวิตอยู่ต่อหลังจากคิดฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ โซคีฮา รักลูก มากกว่า ทัมด๊ก และไขว้เขวที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับลูก เลือกที่จะฆ่า ทัมด๊ก เพื่อลูก แม้จะเป็นความรักที่ไม่น่าประทับใจที่จะเอามากล่าวขวัญ แต่นั่นก็คือ ความรักของแม่ที่มีต่อลูก

1 comment:

  1. เยี่ยมมากครับ

    ReplyDelete

Note: Only a member of this blog may post a comment.