11.4.09

songkran-สงกรานต์

เอกํ สมยํ
ในสมัยหนึ่ง ภควา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตะวันวนารามมหาวิหาร อัน อณาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างถวาย
เอกทิวสํ
ครั้นอยู่มา ณ กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เสด็จไปเฝ้า และได้ทูลถาม ขึ้นว่า

ภนฺเต ภควา
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงสวัสดิโสภาคย์เป็นอันงาม พระพุทธเจ้าข้า ก็แลพระสุริยเทพบุตรนั้น ได้เสด็จอยู่ในวิมานนานสักกี่วัน พระพุทธเจ้าข้า ฯ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า มหาราช ขอถวายพระพร
พระสุริยเทพบุตรนั้นได้เสด็จอยู่ในวิมาน ตามปกติก็เพียง 29 วันเท่านั้น เมื่อล่วงเข้าวันที่ 30 คือครบหนึ่งเดือน แล้ว พระสุริยเทพบุตรนั้น ก็จะย้ายราศีรัศมีขึ้นไปเดินทางเบื้องบน ได้ย้ายราศีออกจากเหลี่ยมยอดเขาพระสุเมรุราช ระรัศมีของพระสุริยเทพบุตรก็ได้แผดกล้า และมีความร้อนนักหนา ซึ่งทำให้ชาวโลกเรียกกันว่า เป็นวัน สงกรานต์
เอกจฺเจ นนุสฺสา
ทำให้หมู่มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายบังเกิดโรคาพยาธิและมีความเจ็บไข้กันเป็นอันมาก มนุษย์บางพวกจำพวก ก็ได้เกิดโรคปัจจุบันขึ้นมาคู่หนึ่ง หรือยามหนึ่ง แล้วก็ได้ถึงซึ่งความตายลงในทันทีนั้น ก็มีอยู่มาก หรือบางพวกอดอยาก เรื่องอาหารการกิน ที่อยู่หลับนอน แล้วถึงซึ่งความตายลงก็มี บางปีก็ข้าวยากหมากแพง บางปีข้าวปลานาเกลือบริบูรณ์ก็มี บางปีฝนตกในเดือนที่เป็นปฐมน้ำมากแต่ต้นปี ครั้นเมื่อถึงปลายปี น้ำนั้นก็ได้เหือดแห้งไปหมดก็ดี บางปีเกิดอัคคีภัย ทำให้ไฟไหม้บ้านเมืองก็มี บางปีท้าวพระยาเสนาบดี คิดทรยศต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็มี บางปีเมื่อสตรีตั้งครรภ์คลอดลูกแล้วล้มตายก็มี เหตุการณ์มีเป็นอย่างนี้แหละ

จะมีเหตุผลเกิดขึ้นด้วยประการใด จึงได้มีเหตุการณ์เช่นนี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า

อถ โช ภควา
กาลครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
ขอถวายพระพร สุริยเทวปุตฺโต
อันว่าพระสุริยเทพบุตรนี้ ถ้าย้ายราศีขั้นสู่ ราศีเมษแล้ว ณ กาลใด แล้ว หญิงชายชาวนิกรชนทั้งหลายก็มักจะเกิดโรคาพยาธิกันเป็นอันมาก
และถ้าหากว่าพระสุริยเทพได้เดินไป ณ กาลใด ในปีนั้น เสนาบดีก็จะคิดทำการทรยศต่อองค์พระมหากษัตริย์
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพนอน ไป ณ กาลใด ในปีนั้นจะเกิดข้าวยากหมากแพง หมู่มนุษย์นิกรทั้งหลายจะเกิดอดอยาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรยืนไป ณ กาลใด หมู่มนุษย์นิกรทั้งหลาย ก็จะได้ความสุขเป็นอันมาก ในกาลนั้น
ถ้าแหละว่าสุริยเทพบุตรขึ้นขี่นาคไป ณ กาลใด ในปีนั้นฝนจะตกชุกในเดือนอันเป็นปฐม น้ำจะมากแต่ต้นปี ครั้นเมื่อถึงปลายปีน่ำจะน้อย และฝนในปลายปีนั้น ก็มักจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จไปโดยทางช่องลม ณ กาลใด ในปีนั้น มักจะเกิดวาตภัยชุกชุม และในปีนั้นลมจะพัดจัดมาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตร ขี่ราชสีห์เสด็จไป ณ กาลใด ในปีนั้นข้าวปลานาเกลือจะอุดมสมบูรณ์และหมู่มนุษย์นิกรทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุข สบายทุกเวลา
ถ้าพระสุริยเทพขี่กวางเสด็จ เสด็จไปไซร้ ณ กาลเวลาใด ในปีนั้นชาวนิคมชนบทน้อยใหญ่ก็จะเกิดรบราฆ่าฟันซึ่งกันและกัน และสตรีทั้งหลายที่มีครรภ์ ก็จะตายด้วยการคลอดลูกเป็นอันมาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จย้ายราศีไปข้างท่อน้ำแล้วไซร้ ในปีนั้นจะมีฝนตกน้อย น้ำจะเหือดแห้งไปหมด ฝูงมนุษย์นิกรจะทำไร่ไถนาได้ยาก
ถ้าแหละพระสุริยเทพเสด็จไปด้วยวิมาน ณ กาลใด ในปีนั้น หมู่มนุษย์นิกรและชาวโลกก็จะพากันอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายอันตรายใดๆในปีนั้น จะเกิด ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นอันมาก
ถ้าแหละว่า พระสุริยเทพบุตรย้ายราศีไปทางท่อไฟ ณ กาลใด ในปีนั้นจะเกิด อัคคีไฟไหม้บ้านเมือง
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรย้ายราศีเสด็จไปในเวลาเช้า ณ กาล ใด ในปีนั้นชาวมนุษย์นิกรทั้งหลาย ก็จะประกอบไปด้วยทุกข์โศก โรคภัย เป็นอันมาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จย้ายราศีไปในเวลาตะวันเที่ยง ณ กาลใด ในปีนั้น ชาวมนุษย์หญิงชายทั้งหลาย ก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดพยาธิเบียดเบียน
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จย้ายราศี ไป ณ เพลาพลบค่ำ ในปีนั้น ท้าวพระยามหากษัตริย์ กับทั้ง นางราชกัญญาทั้งหลาย จะประกอบไปด้วยความทุกข์
ถ้าแหละว่า พระสุริยเทพบุตร เสด็จย้ายราศีไปในเวลาเที่ยงวัน ณ กาลใด ในปีนั้น สัตว์ดิรัจฉานทั้งปวง ก็จะพากันอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคาพยาธิมาบียดเบียนบีฑา



เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเหคุต่างๆซึ่งมีเนื้อเรื่องนั้น เกี่ยวกับวัน สงกรานต์ แด่พระเจ้าโกศลจบลงแล้ว
อถ โข ปเสนทิโกสโล ราชา “
ลำดับนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์ จึงได้ทูลถามอีกว่า
ภนฺเต ภควา
ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ก็ในกาลเมื่อ “ วันสงกรานต์ ” คือพระสุริยเทพบุตรอยู่ในวิมานตามปกติ เพียง 29 วัน ครั้นเมื่อครบกำหนด 30 วันแล้ว ก็ได้ย้ายราศีขึ้นสู่ราศีเมษ คือเดินลอยไปเหนือยอดเขาพระสุเมรุ แล้วย้ายราศีออกจากเหลี่ยมเขาพระสุเมรุ เมื่อพระอาทิตย์ย้ายราศีออกมาเช่นนั้น จึงได้เรียกว่า สงกรานต์ “ จะให้มนุษย์นิกรทำอย่างไรกันดี จึงจะได้รอดพ้นจากความทุกข์ยากและความเจ็บไข้เป็นต้น

สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสว่า
เย มนุสฺสา
ถ้าแหละว่า มนุษย์ชายหญิงจำพวกใด เป็นผู้มีความปรารถนาจะให้พ้นจากความทุกข์ ภัยอันตรายต่างๆแล้วไซร้ มนุษย์ทั้งหลายจำพวกนั้น อย่าได้พึงประมาทในศีลทานการกุศลส่วนสุจริต จงอุตส่าห์ทำบุญให้ทานแก่สมณพราหมณาจารย์ ผู้มีศีลธรรมอันดี
และให้ทานแก่เหล่ายาจกวณิพพก คนกำพร้าอนาถา

เสร็จพิธีให้ทานแล้ว ก็ให้มาสันนิบาตประชุมพร้อมเพรียงกันในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วจึงได้เอาน้ำอบน้ำหอม เครื่องปรุง และจุณแห่งแก่นจันทน์แดงหรือกลิ่นแห่งดอกไม้อันหอมอื่นๆก็ดี ครั้นแล้วจึงเอาน้ำที่หอมนั้น มาทำเป็นน้ำสรงพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง สรงพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์
รดผู้เฒ่า ผู้แก่ ปู่ย่า ตายาย บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งได้เป็นผู้มีคณูปการะ แก่ตนมาก่อน ท่านเหล่านั้นจะได้ให้ศีลให้พร และเมื่อได้รับศีลรับพรจากท่านเหล่านั้นแล้ว ก็จะเป็นผู้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ยิ่งๆขึ้นไป
และอนึ่งเล่า
เย ชนา ชนทั้งหลายที่เป็นผู้มีจิตกรุณาเอ็นดูต่อสัตว์
มจฺฉกจฺฉปสกุณาทิโย โมนนฺจติ แล้วปล่อยสัตว์ทั้งหลาย มี ปลา เต่า นก เป็นต้น ชนเหล่านั้นก็จะได้เสวยซึ่งผลานิสงส์ คือ ความสุข ความเกษมสำราญเป็นอเนกประการ จะเป็นผู้มีอายุเจริญยืนนาน จะประกอบไปด้วยกำลัง กาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์ กำลังความเพียร เป็นอันมากนักหนา ทั้งจะเป็นผู้ที่หาโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนมิได้ จะรอดพ้นจากทุกข์ภัย ทั้งปวง


เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับมาพระราชฐานของพระองค์ ได้ชักชวนประชาชนชาวเมืองของพระองค์ให้ประพฤติปฎิบัติตามพระพุทธวิสัชนานั้นทุกประการ


มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทราย
มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้...


สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สงกรานต์เป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยสันนิษฐานว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมของอินเดีย ต่อมาได้แพร่ขยายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ ลาว เขมร พม่า จีน และไทย ทั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้ต่างไปจากเดิมบ้าง ทั้งการประกอบพิธี รูปแบบ และพฤติกรรม ในประเทศไทย ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีประเพณีสงกรานต์มาตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ เสถียรโกเศศสันนิษฐานว่า ไทยเรารับประเพณีขึ้นปีใหม่ ในวันที่ ๑๓ เมษายน มาจากอินเดียฝ่ายเหนือ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ตรงกับการเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ หรือที่เรียกว่าฤดูวสันต์ของอินเดีย จัดเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา เพราะเป็นช่วงที่อากาศไม่หนาวจัด ต้นไม้ผลิใบให้ความสดชื่น บังเอิญช่วงเวลานี้ตรงกับช่วงเวลาที่คนไทยเราในสมัยโบราณว่างจากการทำนาจึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย


สำหรับคำว่า “สงกรานต์” เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า ผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึง พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีหนึ่ง ก็เรียกว่าสงกรานต์ แต่ละราศีก็มีกลุ่มดาวอยู่ในนั้น เป็นเฉพาะของราศีหนึ่งๆ เหตุนี้ ราศี จะแปลว่ากอง ว่าหมู่ เช่น บุญราศี ก็แปลว่า กองบุญ เมื่อดวงอาทิตย์โคจรเข้าไปในราศีใดและกว่าจะผ่านพ้นราศีนั้นไปสู่อีกราศีหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน วันเวลาที่ดวงอาทิตย์ยกขึ้นสู่อีกราศีหนึ่ง ท่านเรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ คือ ในเดือนเมษายน เขาเรียกเป็นพิเศษว่า มหาสงกรานต์ เพราะถือว่าเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นเป็นปีใหม่


ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) ซึ่งบางปีก็อาจจะตรงกับวันใดวันหนึ่ง

วันเถลิงศก หรือ วันพญาวัน

คือ วันเริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ หรือวันเริ่มปีใหม่


ทั้งสามวันนี้หากคำนวณตามโหราศาสตร์จริงๆอาจจะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ ๑๔ เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน แต่เพื่อให้จดจำได้ง่าย จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวข้างต้นวันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง ๔ วัน คือวันที่ ๑๓ -๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราวจะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ


วันมหาสงกรานต์
ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล
ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย
ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล
ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ว่าท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล
ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล ฯ


วันเนา


ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแล
ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ
ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง
ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ลูกไม้จะแพง ตระกูลทั้งหลายจะร้อนใจนักแล
ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา ข้าวจะแพง แร้งกาจะตายห่า สัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย
ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแล ฯ


วันเถลิงศก


ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแล
ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง
ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ที่ใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล
ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐแล
ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าพานิชทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมากแล
ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการต่าง ๆ แม้จะกระทำยุทธ์ด้วยข้าศึก ณ ทิศใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล ฯ

ตำนานสงกรานต์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์และนางสงกรานต์ที่เรารู้จักกันดีเป็นตำนานที่ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้จารึกไว้ในแผ่นศิลา ๗ แผ่น ติดไว้ที่ศาลารอบพระมณฑปทิศเหนือ ในวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์


.นางสงกรานต์เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุด มีด้วยกัน ๗ องค์เป็นพี่น้องกัน และต่างก็เป็นบาทบริจาริกา แปลว่า นางบำเรอแทบเท้า หรือเรียกง่ายๆว่า เป็น “เมียน้อย”ของพระอินทร์ จอมเทวราช และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมในตำนาน



ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ

ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)

ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)

ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)

ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)

ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)

ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)



ประกาศสงกรานต์ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๒
ปี ฉลู (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุดิน) เอกศก จุลศักราช ๑๓๗๑ ทางจันทรคติ เป็นอธิกวาร ทาง สุริยคติ เป็น ปกติ
วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ เวลา 0๑ นาฬิกา ๑๓ นาที ๑๔ วินาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบอาภรณ์แก้ว
มุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้าย ทรงไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรหลัง พยัคฆะ (เสือ) เป็นพาหนะ
วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา 0๕ นาฬิกา 0๖ นาที เปลี่ยน จุลศักราชใหม่ เป็น ๑๓๗๑ ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย, วันพุธ เป็น อธิบดี ,วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ , วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ
ปีนี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๕00 ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๕0 ห่า ตกในมหาสมุทร ๑00 ห่า ตกในป่า หิมพานต์ ๑๕0 ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒00 ห่า นาคให้น้ำ ๒ ตัว
เกณฑ์ ธัญญาหาร ได้เศษ ๖ ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล ๙ ส่วน เสีย ๑ ส่วน ธัญญาหาร ผลาหาร จะอุดมสมบูรณ์
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก



กิจกรรมในวันสงกรานต์

การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว



การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา





การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย





บังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้


การดำหัว ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่


การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่




การก่อเจดีย์ทราย โดยนำทรายมาก่อเป็นเจดีย์ต่างๆในวัด จุดประสงค์ก็คือ ให้วัดได้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือใช้ถมพื้นต่อไป เพราะสมัยก่อนคนมักเข้าวัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เขาก็ถือว่าทรายอาจติดเท้าออกไป ดังนั้นเมื่อถึงปีหนึ่งก็ควรจะขนทรายไปใช้คืนให้แก่วัดงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด เพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ






ขอเชิญชวน คนไทย ช่วยกันสืบสานประเพณี วันสงกรานต์ หรือวันครอบครัว ของ พวกเรากันไว้นะคะ
ข้อมูล และภาพ บางส่วน มาจาก google ค่ะ และหลาย web แต่เนื่องจาก คนเขียน ใจไม่อยู่กับตัว ด้วยเหตุการณ์ในวันนี้ ทำให้ สับสนไปหมดแล้ว ข้อมูลส่วนไหน ภาพไหน มาจาก Web ใดบ้าง มี วิกิพีเดียและอื่นๆ ต้องขออภัยจริงๆ มา ณ ที่นี่ด้วย
ข้อมูล ในสมัยพุทธกาล มาจากหนังสือ ประเพณีไทย ฉบับมหาราชครูฯ
นอกจากนี้ เผอิญ อ่านพบ ข้อมูล เรื่อง ตัวสงกรานต์ ที่ ดิฉันเองในวัยเด็ก เคยได้ยินคุณยาย พูดถึง ตัวสงกรานต์ แต่เพราะยังเป็นเด็ก จึงไม่เคยเรียนถามท่านว่า ตัวสงกรานต์ หน้าตา รูปร่างอย่างไร จะเป็นไปตามข้อ มูล นี้หรือไม่ ก็ไม่มี คุณยายให้เรียนถามเสียแล้ว
ในสมัยก่อนเมื่อใกล้สงกรานต์หรือวันสงกรานต์ จะมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่คนแต่ก่อนเรียกว่า “ตัวสงกรานต์” เป็นสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายไส้เดือน แต่เล็กขนาดเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒ นิ้ว มีสีเลื่อมพราย เป็นสีเขียว เหลือง แดง ม่วง เปลี่ยนสีไปได้เรื่อยๆ จะอยู่กันเป็นฝูงในแม่น้ำลำคลอง เมื่อกระดิกตัวว่ายน้ำจะทำให้เกิดประกายสีต่างๆสวยงามแปลกตา ถ้าจับพ้นน้ำ สีจะจางหายไป ตัวจะขาดเป็นท่อนเล็กๆและเหลวละลาย ปัจจุบันเข้าใจว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.