18.9.08

ในฝันอันเป็นจริง ..เรื่องจริงกลับเป็นสิ่งเลือนหาย


แม้จะพ้นผ่านเทศกาล Chusoek เทศกาล ไหว้พระจันทร์ ไปแล้ว มีเรื่องราวดีดีที่คุณ ladymoon นำมาเล่าให้อ่าน ทั้งเรื่อง ตำนาน ขนบธรรมเนียมความเชื่อของประเทศเกาหลี และประเทศจีน
เรื่องที่เกี่ยวพันกับพระจันทร์และบทเพลงอมตะ ของไทย ก็มีเรื่องราวน่าสนใจ ที่อยากนำมาเล่า และก็เป็นเพียงภาษาไทย ได้ภาษาเดียว ต้องขอโทษ เพื่อนๆ ชาวต่างประเทศ มา ณ ที่นี้

ในฝันอันเป็นจริง - -เรื่องจริงกลับเป็นสิ่งเลือนหาย.........

The dreams come true.
This story is about the dream of The King Rama II of Thailand. He is an expert in poetry and Thai music. One night, he dreamed about a beautiful place while he stood up , the moon was moving close to him with a sweet song for a long time. After that, the moon moved back gradually in to the sky and also the sweet song faded away gradually. Then, he woke up, he called the musician for making that song. He call this song “Bu-Lun-Loy-Luren”*.

*** “Bu-Lun” means the moon.“
Loy-Luren” means moving gradually


ในฝันอันเป็นจริง

ท่านเคยมีความเชื่อในเรื่องความฝันหรือไม่ เรื่องความฝันมีความอัศจรรย์น่าค้นคว้า
เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นทั้งกวีเอกและนักดนตรีที่ชำนาญเป็นเยี่ยมยากจะหาผู้ใดมาเทียบทันทรงโปรด ซอสามสายมากเป็นพิเศษ ถึงกับโปรดให้ยกหรืองดเก็บภาษีอากรส่วนใดก็ตามที่ที่มีต้นมะพร้าวชนิดพิเศษที่ใช้ผลทำกะโหลกซอสามสาย
ทรงสร้างซอสามสายด้วยพระองค์เองไว้หลายคันมีอยู่คันหนึ่งโปรดมากพระราชทานนามว่า “ซอสายฟ้าฟาด”
และโปรดทรงซอนี้เสมอในเวลาว่างพระกิจยามราตรี ถ้าไม่ร่วมวงก็มักทรงเดี่ยวตามลำพังพระองค์เอง
จนกระทั่งเกิดเป็นเพลง “บุหลันเลื่อนลอยฟ้า” ขึ้นในคืนวันหนึ่ง

ในคืนวันนั้นหลังทรงซอสามสายจนดึกแล้วเสด็จเข้าที่บรรทม ทรงพระสุบินว่าได้เสด็จไปที่สวยงามไม่มีแห่งใดในโลกเสมอเหมือน ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ค่อยๆลอยเคลื่อนเข้ามาใกล้พระองค์ทีละน้อยๆและสาดแสงสว่างไปทั่วบริเวณ ทันใดนั้นปรากฏเป็นเสียงทิพยดนตรี แว่วกังวานหวานไพเราะเสนาะพระกรรณเป็นที่ยิ่ง พระองค์เสด็จทรงประทับทอดพระเนตรและทรงทรงตั้งพระทัยสดับเสียงดนตรีอันไพเราะเพลิดเพลินพระราชหฤทัยเป็นเวลานาน จากนั้นดวงจันทร์ก็ค่อยๆลอยเลื่อนเคลื่อนห่างออกไปในท้องฟ้าพร้อมสำเนียงเสียงดนตรีก็ค่อยๆเบาจางห่างหายไป พลันเสด็จตื่นบรรทมแม้เสด็จตื่นรู้พระองค์กระจ่างแจ้งแจ่มพระทัย แล้ว สำเนียงดนตรีในพระสุบินยังแว่วกังวานพระโสตอยู่ จึงโปรดให้ตามมหาดเล็กเจ้าพนักงานการดนตรี เข้ามาต่อเพลงไว้ในยามราตรีนั้นเอง พระราชทานนามเพลงว่า “เพลงบุหลันลอยเลื่อน”หรือเพลงบุหลันลอยฟ้า หรือบางทีเรียกกันว่าเพลงทรงพระสุบิน และเคยเรียกว่าเพลงสรรเสริญพระจันทร์ เพราะเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีมาสมัยหนึ่ง
ต่อมาเกิดเพลงสรรเสริญพระบารมีทำนองสากล จึงเรียกเพลงนี้ว่าเพลงสรรเสริญพระจันทร์ เป็นเพลงสรรเสริญบารมี(แบบ)ไทย

เพลงบุหลันลอยฟ้าเป็นเพลงที่ไพเราะซาบซึ้งยอดเยี่ยมผู้ขับร้องจะใช้น้ำเสียงนิ่มนวลอ่อนโยนครุ่นคิด ขณะ
เดียวกันก็มีความหวังอันแจ่มใสอยู่บนใบหน้าคลอกับเสียงดนตรีที่อ้อยสร้อยอาลัยอาวรณ์ฟังแล้ววังเวงใจ (เนื้อร้องจะมาเรื่องอิเหนา)
ในวารสารวัฒนธรรมไทย ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เมษายน 2511

แด่ บุหลันลอยเลื่อน
โอ้เพ็ญจันทร์พรรณกระจ่างสว่างหล้า
ภาค นภาพร่างพราวสกาวใส
จอมราชันทรงสุบินนิมิตไป
ตื่นบรรทมท่านไท้ได้ทำนอง
สมญาตรง” เพลงทรงพระสุบิน”
ประชาชนทั่วสิ้นพลอยสนอง
เรียก “บุหลันลอยฟ้า”ว่าทำนอง
บ้างเพราะพร้องนาม “บุหลันลอยเลื่อน”มา
ดวงบุหลันนั้นภาษาชวา พากย์
คือจันทร์เพ็ญเด่นฟากส่องนิศา
เพลงพาฝัน “สรรเสริญพระจันทรา”
“บุหลันเลื่อนลอยฟ้า” อีกนามเอย

ตำนานจีนก็มี(ขอใช้คำว่าตำนาน) เกี่ยวกับเพลงและพระจันทร์
พระเจ้าหมิงหวั่งจอมจักรพรรดิราชวงศ์ถังเสวยราชย์ระหว่างปี 1256-1305 (50ปี)เมื่อสมัยยังทรงมีพระชนม์หนุ่มแน่นอยู่นั้นทรงพอพระทัยและโปรดดนตรีมาก คราวหนึ่งทรงได้ผู้วิเศษชื่อโฮล่า คงหย่วน มาใช้ในราชสำนัก วันหนึ่งผู้วิเศษได้เอาไม้เท้าของตนขว้างไปที่ดวงจันทร์ ไม้เท้ากลายเป็นสะพานทอดให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังดวงจันทร์ได้พบพระนางฉ่างโอ เทพธิดาผู้เป็นราชินีแห่งดวงจันทร์ พระนางโปรดให้มีการจัดระบำรำฟ้อนขับร้องดนตรีเป็นการต้อนรับ ล้วนไพเราะสวยงามตรึงพระทัยพระเจ้าหมิงหวั่ง ยิ่งนัก ทรงตั้งพระทัยจดจำไว้ได้หมดสิ้น เมื่อเสด็จกลับโปรดให้หามหาดเล็ก (ขันที)มาต่อเพลงและจดจำเพลงเหล่านั้นไว้ เพลงดังกล่าวใช้บรรเลงอย่างแพร่หลายในราชสำนักจีนอีกหลายร้อยปีต่อมา ชาวจีนที่มีการศึกษาต่างรู้จักดี ถือเป็นเพลงอมตะไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปอย่างไร ( ท่านใดทราบชื่อเพลงกรุณา เสริมข้อมูลด้วย ขอขอบคุณ)

จากปกิณกะการดนตรีและเพลงไทย โดย สมบัติ จำปาเงิน และสำเนียง มณีกาญจน์
( ผู้เขียนเป็นศิษย์ขับร้องของท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (มีหนังเรื่อง โหมโรง ของท่านครู) เมื่อ 2492-2497 (หลายๆท่านยังไม่ลืมตามาดูโลกเลยใช่ไหมคะ) ตอนหลังท่านเป็นข้าราชการของกรมศิลปากรเป็นครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง)

พระนางฉ่างโอ น่าจะเป็น หญิงสาวในดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ของคุณ ladymoon
ราชวงศ์ถังอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 1161-1449 กษัตริย์ถังอ้ายจง เป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ถัง หลังจากนั้นก็มีการตั้งราชวงศ์ต่างๆของตนขึ้นมา ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจเป็นเวลาสั้นๆอีก 5 ราชวงศ์ คือ เหลียง โดยแม่ทัพจูเหวินผู้ปลงพระชนม์ ถังอ้ายจงฮ่องเต้ แล้วก็มีถัง จิ้น ฮั่น โห้วโจว หรือ โจวยุคหลัง พวกคีตันยกทัพมารุกราน จ้าวควางยิ่น แม่ทัพใหญ่ ยกทัพออกไปต่อสู้ ในที่สุด จ้าวควางยิ่น ได้ตั้งราชวงศ์ซ้อง หรือซ่งขึ้น เป็นพระเจ้าซ่งไทจู ราชวงศ์ซ่งอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 1503-1822 (ในยุคราชวงศ์ซ่ง จะมีคนดัง ท่าน งักฮุย มีไคฟงเป็นเมืองหลวง) และปลายราชวงศ์เป็นช่วงที่ เตมูจิน หรือ เจงกีสข่าน ของ มองโกล ยกทัพไปตี พวกจิน เซี่ยและซิตัน แพ้ราบคาบ และตามมาด้วย ราชวงศ์ ซ่ง ที่สิ้นราชวงศ์ และกุบไลข่าน หลานปู่ของ เจงกีสข่าน ได้ตั้ง ราชวงศ์หยวน ขึ้นมาแทน ระหว่างราชวงศ์ ซ่ง และหยวน จะถูกคั่น ด้วยราชวงศ์เหลียวของเผ่าซีตัน โดยราชวงศ์เหลียว นี้จะตรงกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชของไทย

เรื่องจริงกลับเป็นสิ่งเลือนหาย.......

The truth is fading away.

Prince Pen Patthanapong , 21, is the son of the King Rama V of Thailand. After he graduated from London, he went to Chiang Mai and met Pricess Chom Chuen, the Princess of Chiang Mai. He fell in love with her so much and wanted to married with her but his folks obstructed him. Then he went back to Bangkok with his sad love afterward he miss her and composed a song “Lao-Dam-Neun-Kwian”*. He frequently played this song by himself or gave the royal page played for her. When he went to the other palaces in Bangkok, he often played it. After that other people called this song “Lao-Duong-Duen”* because this song has the word “Duong-Duane” at the beginning till the last. Nobody called the old name and new generation don’t know the origin of this sad love song.
*** “Duong-Duen” means the moon.
“Kwian” means bullock car, cart.


ความรักของเจ้านายรัตนโกสินทร์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดา มรกฎเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษด้านการเกษตร ทรงเป็นนักดนตรีเพราะตระกูลฝ่ายพระมารดาเป็นนักละครและนักดนตรี มีคุณตา คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) มีคณะละครและวงดนตรีวงใหญ่
เมื่อเสด็จกลับมาทรงรับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาทรงเป็นอธิบดี กรมช่างไหม ทรงเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานเกี่ยวกับไหมไทย
คราวหนึ่งเสด็จตรวจราชการภาคอีสานเสด็จโดยทางเกวียนเป็นทางไกล ทรงนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน เพื่อให้คู่กับ เพลงลาวดำเนินทราย ทำนองเพลงและบทร้องไพเราะซาบซึ้งยอดเยี่ยม เป็นที่นิยมจดจำกันนำมาร้องต่อๆกันมา ในเนื้อร้องมีคำว่าดวงเดือนตั้งแต่เริ่มต้นและอีกหลายแห่งจนจบ ผู้ไม่รู้จักมาแต่ต้น ต่างเรียกเพลงลาวดำเนินเกวียนว่าลาวดวงเดือนกันทั้งนั้น
เบื้องหลังของเพลงลาวดวงเดือนมีเหตุแห่งความดลใจเพื่อทรงระบายความรักความอาลัยที่ต้องพลาดรัก
กับเจ้าหญิงในตระกูลฝ่ายเหนือดังนี้







ในขณะมีพระชนม์ 21 พรรษาได้เสด็จไปเที่ยวนครเชียงใหม่ พระยานริศราราชกิจข้าหลวงใหญ่ภาคพายัพได้รับเสด็จอย่างสมพระเกียรติ เจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ (พระเชษฐาเจ้าดารารัศมี พระราชชายา
ในรัชกาลที่5) และพระญาติจัดงานต้อนรับหลายวัน มีการแสดงพื้นเมือง ระบำรำฟ้อน เจ้าราชสัมพันธวงศ์ (ธรรมลังกา) และเจ้าหญิงคำย่น ชายา ได้พาพระธิดาองค์โตนามว่าเจ้าหญิงชมชื่น มาร่วมงาน (และมีเพลงลาวดวงดอกไม้ ร้องสำเนียงปนเหนือ และเนื้อเพลงเอ่ยนาม ชมชื่นในเพลงด้วย) พระองค์เจ้าชายพบปะสนทนาและทรงพอพระทัย เจ้าหญิง วัย 16 พรรษาจนเกิดความรักครั้งแรก

หลังจากนั้นได้เสด็จไปที่คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์อีกหลายครั้ง ในที่สุดทรงขอให้ข้าหลวงใหญ่เป็นเถ้าแก่ทำการสู่ขอเจ้าหญิง ให้เป็นหม่อมของพระองค์ แต่เจ้าราชสัมพันธวงศ์ทัดทานไว้ ขอให้เจ้าหญิงมีพระชนม์ครบ 18 เสียก่อน และให้ปฏิบัติตามราชประเพณีคือพระเจ้าลูกยาเธอจะเสกสมรสต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อนเพื่อให้อยู่ในฐานะสะใภ้หลวง มิฉะนั้นจะได้เป็นเพียงนางบำเรอ
เถ้าแก่นำความผิดหวังมาทูล เมื่อไม่สมหวังต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ ทรงกลับมาขอความเห็นพระทัยจากพระญาติใหญ่น้อยทั้งหลายแต่ไม่เป็นผลการสู่ขอเจ้าหญิงได้รับการทัดทาน...หมดสิ้นความหวังทุกประการ..
พระองค์ทรงนึกถึงแต่ชีวิตในนครเชียงใหม่ของพระองค์ มิได้ขาด ความผิดหวังทำให้ทรงโปรด เพลง ลาวเจริญศรี (เนื้อร้องจากวรรรคดีเรื่องพระลอ) และนำมาสู่ แรงบันดาลใจนิพนธ์เพลง “ลาวดำเนินเกวียน “หรือต่อมาเรียกกันว่า “ลาวดวงเดือน”

ผู้นิพนธ์ได้แต่ทรงสะอื้นอยู่ในพระอุระและเดียวดาย คราใดที่สายลมเหนือพัดมาจากเชียงใหม่พระองค์ก็ยิ่งทรงสลดรันทดพระทัย ทรงเศร้าขึ้นมาคราใดก็จะทรงดนตรีหรือเสด็จไปฟังดนตรีตามวังต่างๆ เพลงลาวดำเนินเกวียนทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงความหลัง ความรักอันกลายเป็นความเศร้า คราวใดที่ทรงระลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น จะทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัย ถ้าไม่ทรงเอง ก็โปรดให้มหาดเล็กเล่นให้ฟัง เป็นที่ทราบในหมู่มหาดเล็กและคนใกล้ชิดพระองค์ว่า เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงซึ่งขาดไม่ได้ตลอดพระชนม์ที่มิยืนยาวของพระองค์
(จาก เพลงไทยตามนัยประวัติของ ครูเงิน)

ทุกท่านคงรู้จักเพลงลาวดวงเดือน
เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงที่ดีที่สุด ถือเป็นเพลงอันดับ 1 ของเพลงไทย เป็นเพลงรักอาลัยที่ซาบซึ้งตรึงใจชนทุกชั้น นอกจากทำนองเพลงที่ไพเราะซาบซึ้งยอดเยี่ยมแล้ว เนื้อร้องทุกวรรคทุกตอน จะแสดงความรู้สึกออกมาจากส่วนลึกแห่งห้วงดวงใจ
ความละมุนละไมและความนุ่มนวลของเพลง ซึ่งผู้นิพนธ์ได้บรรจงนิพนธ์ไว้อย่างงดงาม ดั่งประมวลความดีงามของเพลงไว้ในเกสรดอกไม้ทุกดอก ความหวานของเพลงเหมือนหยาดลงมาจากรวงผึ้ง ความไพเราะเพราะพริ้ง ประดุจมาจากสวรรค์ สิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติของเพลงลาวดวงเดือน (โดยมณีรัตน์ สังขวิภา)



โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย ข้อยมาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง
อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม ข้อยนี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม จะหาไหนมาเทียม
เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูเรียมเอย หอมกลิ่นกรุ่นครัน
หอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย เราละเหนอ
โอ้ละหนอ นวลตาเอย ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ โอ้เป็นกรรม ต้องจำจากไกล
อกพี่อาลัย เจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรม เริศร้างเวหา ข้อยเบิ่งดูฟ้า(ละหนอ) เห็นมืดมน พี่จะทนทุกข์ทุกข์ทน
เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อย เอย ถึงจะหวาน
เสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่ เหมือนทรามเชย เราละเหนอ

( ขณะนิพนธ์เนื้อเพลงและทำนองเพลงนี้ น้ำพระเนตรคงไหลย้อนลงล้นท่วมในพระอุระและคงนิพนธ์ตอนกลางคืน ข้างแรมยามดึกจนใกล้รุ่งฟ้าสาง นี่คือรักอมตะของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์)

ที่นำมาเล่าเพราะอยากประกาศเกียรติคุณของท่านผู้นิพนธ์ ถึงความไพเราะของเพลงและรักแท้ในดวงหฤทัย

กาลต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าวรรณวิไลยกฤดากร
มีพระธิดา 1 องค์ คือหม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข และมีโอรสกับหม่อมเทียม (คชเสนี) 1 องค์ คือหม่อมเจ้าเผ่าเพ็ญพักตร์ (ข้อมูลนี้คงไม่ค้านกับข้อความข้างบน ประมาณว่า คนละประเด็นกัน )

เพลงลาวดวงเดือน เป็นหัวข้องานค้นคว้าวิจัยของ สนอง คลังพระศรี อานันท์ นาคคง และประยุกต์ บุนนาค จากหนังสือ ลาวดวงเดือน วังท่าเตียน จะมีรายละเอียด และความเห็น แตกต่างไปจาก ความเห็น ของ ท่านครูดนตรีไทย ทั้ง 3 ท่านข้างต้น ที่เอ่ยถึงมา หลายประเด็น

ทรงประชวรด้วยโรค วัณโรค ทรงเสด็จไปรักษาตัวที่ ประเทศอียิปต์ และประเทศในยุโรป เมื่อเสด็จกลับมา อาการประชวรยังไม่หายขาด ทรงนิพนธ์บทร้องไว้อีกหลายเพลง แสดงความน้อยเนื้อต่ำพระทัยในโชคชะตาของพระองค์ และก็ทรงงานอย่างปกติ
ทรงประชวรหนักอีกและสิ้นพระชนม์อย่างสงบ สิริพระชนมายุ 27 ชันษา
เมื่อกลับจากการรักษาตัวที่ยุโรป ทรงนิพนธ์เพลงที่ไพเราะอีก ขอยกตัวอย่างมาบางท่อน เช่น

เพลงแป๊ะ
โอ้จันทร์เอ๋ยเคยกระจ่างสว่างหล้า
ไฉนดับลับฟ้าเวหาหาย
มิทอแสงแข่งโลกโศกเสียดาย
ดารารายรุมแข่งกลบแสงจันทร์

เพลงลาวปทุมมาลย์ หรือลาวคำหอม เช่น
.........................
โอ้เจ้าดวง
เจ้าดวงดอกมณฑา
กลิ่นหวนอวลมา
ชื่นในหัวใจเอย
กลิ่นหอมเหมือนเนื้อทรามเชย
หอมเอยมณฑา หวาดว่าน้องเอย
โอ้ใจหาย.............

คนเล่าสงสัยเป็นที่ยิ่งว่าทำไมรักนี้จึงไม่สมหวังเพราะเจ้าหญิงก็มีศักดิ์ มีชาติตระกูล พยายามหาข้อมูลเสียนาน ไม่มีการกล่าวถึงเหตุผล แต่ ขอโยงเรื่องไปอีกถึง พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบความยุ่งยาก รำคาญใจต่างๆมากมาย ในพระราชฐาน มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก อิจฉา ริษยา ถูกกลั่นแกล้ง ถูกมองว่าชาวเหนือเป็นพวกลาว ยิ่งเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรด ก็ยิ่งลำบาก ขนาดว่าทรงเป็นเจ้าจอมที่ร่ำรวย มีจิตใจกว้างขวาง ขนาด พระราชสวามีออกพระโอษฐ์ว่า “ดาราใช้เงินเก่ง” ที่ว่าร่ำรวยเพราะนอกจากได้รับพระราชทานเงินปี 100 ชั่งแล้ว เจ้าพ่อพระบิดา พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ยังส่งเงินอีกปีละหลายหมื่นบาทรวมทั้งเครื่องเพชร ทับทิมที่ส่งจากพม่าอีกมากมาย

ในประวัติของพระราชชายามีการกล่าวถึงพระญาติองค์หนึ่งว่า เจ้าหญิงกรรณิกา ณ เชียงใหม่ ภริยาเจ้าราชวงศ์ (ชมชื่น ณ เชียงใหม่ ) ถึงแก่ชีวิตลง เจ้าหญิงกรรณิกา เป็นธิดาเจ้าน้าของพระราชชายา ไม่แน่ใจว่า ชมชื่นเดียวกันไหม ถ้าใช่ก็แปลว่า เจ้าหญิงชมชื่น ก็อายุไม่ยืนเหมือนพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ซึ่งต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม

และเจ้าดารารัศมีเองก็ไม่ได้มีความสุขในชีวิตของพระราชชายาเท่าไรเลย ทั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจะขอรับเจ้าหญิงเป็นพระราชบุตรีบุญธรรมจะทรงแต่งตั้งให้เป็น”ปรินเซสออฟเชียงใหม่”แบบเชื้อพระวงศ์วินเซอร์ เพื่อเป็นทายาทที่จะครองนครเชียงใหม่ในอนาคต แม้จะเป็นเหตุผลทางการเมืองก็ตามที แต่แล้วด้วยพระชนม์เพียง 14 ชันษา ก็ต้องรับราชการสนองพระเดชพระคุณในหลวงเป็นเจ้าจอม ทรงอยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพะนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

ทรงเป็นนกน้อยในกรงทองในพระราชสวามี 24 ปี และอยู่ในกรุงเทพอีก 4 ปีหลังพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคตจึงได้คืนกลับนครเชียงใหม่ ทรงเป็นขัตติยนารีโดยแท้ ทรงมีขันติอดทน มิเคยกราบบังคมทูลเรื่องให้ร้อนพระทัย แม้ถูกกลั่นแกล้งให้กระทบกระเทือนใจเพียงใด แต่พระสวามีก็ทรงทราบทรงว่ากล่าวตักเตือนเจ้าจอมหม่อมห้ามและบริวารให้ยุติการกลั่นแกล้งโดยเด็ดขาด เหตุการณ์จึงดีขึ้นเพราะทรงโอบอ้อมอารีมีความละมุนละไม ในตำหนักมีแต่กลิ่นอายเมืองเหนือ

ทรงมีวรกายแข็งแรง กล้าหาญ อดทน ทรงม้าไปในที่ทุรกันดาร ภูเขาสูง และความหนาวเย็น (เมื่อกลับนครเชียงใหม่ ทรงมีความสุขที่เมืองเกิดอีก 20ปี ที่ตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม รวมพระชนมายุ 60 พรรษาเศษ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถวายตัวเป็นเจ้าจอม พระชนม์ 14
เป็นเจ้าจอมมารดา พระชนม์ 17 มีพระเจ้าลูกเธอมีพระชนม์เพียง3 ปีเศษ 1 องค์
พระสนมเอก พระชนม์ 21
พระราชชายา พระชนม์ 35 เป็นพระมเหสีมีฐานันดรศักดิ์ อันดับ 8 ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ยังทรงมีพระสนมชั้นเจ้าจอมมารดา 30 คน เจ้าจอมอยู่งาน(ไม่พระโอรสธิดา 37 คน) รวม 75พระองค์ (คน) การที่พระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระมเหสีและพระสนมมากมายก็มิใช่ประสงค์ในโลกีย์สุข แต่เนื่องมาจากสาเหตุ 3 ประการ
1.ทางการเมือง 2.ทางสังคม 3.เหตุผลในการสืบสันติวงศ์

หากพระราชชายารับการแต่งตั้งจากอังกฤษ เชียงใหม่ก็จะเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ดังนั้นพระพุทธเจ้าหลวง ต้องทรงใช้โซ่ทองพันผูกเจ้าหญิงแห่งเวียงเหนือ เพื่อผูกให้สยามประเทศและล้านนา เป็นแดนเดียวกัน จนทุกวันนี้

ข้อมูลเรื่องจำนวนพระสนม มีกล่าวไม่ตรงกันในหนังสือหลายเล่ม
มีเจ้าผู้ครองนครชียงใหม่หลังจากเจ้าหลวงอินทวิไชยยานนท์ พระบิดาของพระราชชายา ถึงแก่พิราลัย (ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ เพียงองค์เดียว) ต่อ อีก 2 องค์ เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา คือ
องค์ที่ 8 เจ้าอินทวโรรสสุริยะวงศ์
องค์ที่ 9 พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ หลังจากถึงแก่พิราลัยแล้ว โปรดเกล้าให้ยุบเลิก ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร เสีย เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์

ฐานันดรศักดิ์พระมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งจักรีวงศ์
1.สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
2.สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ( สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวีพระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า)
3.สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
4.พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวี ( สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี)
5.พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์
6.พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
7.พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
8.พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
(จาก พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เรียบเรียงโดยหนานอินแปง)


ชินดองฮ็อกเคยสงสัยว่ากษัตริย์ของเกาหลีที่มีมเหสีมากเกินจำนวนกษัตริย์ ว่า จะทรงรักกันได้แค่ไหน ตลอดไปหรือเปล่า เพราะการจะรักคนเพียงคนเดียวตลอดไปก็แสนยากอยู่แล้ว
เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าหนอ...

จาก จันทร์เต็มดวงเทศกาลไหว้พระจันทร์ พาไปอ่านตำนานเพลง บุหลันลอยเลื่อน ลาวดวงเดือน คนเล่าหลงทางเสียแล้ว จาก รัตนโกสินทร์ ไปสู่นครราชสีมา อุบลราชธานี ต่อไปถึงสุโขทัย นครเชียงใหม่ เลยไปถึงประเทศจีน วกกลับมาประทศเกาหลี ตอนนี้ต้องแหงนมองฟากฟ้าเพื่อหาดาวโพลาริส
ดาวโพลาริส ของคังจุงซางและลีมินฮุง ที่ไม่เคยเปลี่ยนตำแหน่งไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าหาพบก็จะหาทางออกได้ในเวลาหลงทาง แต่ ท้องฟ้า เพลานี้มืดมัวสลัวรางปกคลุมด้วยเมฆฝน แถมยังเป็นคืนข้างแรม และคนเล่ายังหาทางกลับบ้านไม่พบค่ะ

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.