1.3.09

ชวนมองกระแสวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านสายตานักวิชาการแดนโสม


ชวนมองกระแสวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านสายตานักวิชาการแดนโสม

ประชาไท – 17 ก.พ. 52 ที่ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มช. ได้จัดการบรรยายทางวิชาการเรื่อง Representation of Gender in Korean P.V. Series (การนำเสนอเรื่องเพศสภาพในละครซีรี่ย์เกาหลี) โดย ศาสตราจารย์ Kim Eun-Shil จาก Ewha Woman University ประเทศเกาหลี เป็นผู้นำเสนอและมี ดร.สุภัควดี อมาตย์กุล และ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล เป็นผู้ดำเนินรายการและถอดความการบรรยาย

ศ. Kim Eun-Shil เริ่มต้นโดยกล่าวถึงหัวข้อที่จะพูดคือ หนึ่ง คนเกาหลีมองกระแสเกาหลีอย่างไร สอง การเดินทางของวัฒนธรรมร่วมสมัยในเอเชีย สาม แฟนดอม (Fandom) ของวัฒนธรรมเกาหลี และสี่ การบริโภควัฒนธรรมร่วมสมัยในเอเชีย

โดยก่อนจะพูดถึงว่ากระแสเกาหลีตั้งแต่ปี 1999 เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอะไรเกิดขึ้นในเกาหลีช่วงทศวรรษที่ 1990s ศ. Kim ก็เล่าย้อนถึงประวัติศาสตร์ของเกาหลีอย่างคร่าว ๆ โดยเริ่มต้นจากเรื่องที่เกาหลีเคยมีสงครามกับประเทศญี่ปุ่น และเคยตกเป็นอาณานิคม (Colonization) ของทั้งญี่ปุ่นและอเมริกามาก่อน จนกระทั่งในปี 1945 จึงเป็นอิสระจากญี่ปุ่น ต่อมาจึงเกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนการปกครองแบบคอมมิวนิสต์และเสรีนิยมทำให้เกิดสงครามเกาหลีขึ้นในปี 1950-1953 ทำให้มีการแบ่งแยกประเทศออกเป็นเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้



ศ. Kim เล่ามาจนถึงช่วงยุค 1960-1980 ซึ่งเป็นช่วงพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม(Social Movement) ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงาน เป็นต้น จากการเคลื่อนไหวเหล่าเป็นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศเกาหลีกลายเป็นประเทศที่มีกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ประชาชนมีทางเลือก ในปี 1987 ถือเป็นปีที่เกาหลีประสบความสำเร็จด้านประชาธิปไตย เกิดคำว่า “We” หรือ “พวกเรา” ขึ้นในหมู่ประชาชนชาวเกาหลี ซึ่งเรื่องของภาพยนตร์เกาหลีจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

ศ. Kim เล่าต่อว่า กระทั่งปี 1990 คำว่า “We” ของประชาชนชาวเกาหลีมีความหมายลดลง ประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญกลายมาเป็นเรื่องส่วนตัว (Personal Political) เริ่มเห็นความแตกต่างกันภายในประเทศ มีความต่างกันทางชนชั้น ทางเพศสภาพ และทางรุ่น (Generation) ในยุคนี้ในภาพยนตร์ของเกาหลีจึงมีตัวเอกที่ออกแนวต่อต้านสังคม ไม่ได้มีความรู้สึกร่วมกับความเป็นเกาหลี

และในช่วงยุคหลังปี 1990 ศิลปะบันเทิงของเกาหลี (Korean Pop) เริ่มแสดงภาพของ ผู้ชายที่ล้มเหลวด้านความเป็นชาย (Masculinity in trouble) มีลักษณะของความเป็นชายขี้แพ้ มีหลายครั้งที่พระเอกล้มเหลวทางวิชาชีพ ขณะเดียวกันก็มีภาพของชายเกาหลีทีเป็นลูกผสมมีเชื้อสายเกาหลีและเชื้อสายอื่น เช่น จีน หรือ อเมริกัน ปนอยู่ด้วย

ศ. Kim บรรยายต่อถึงยุควิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 หรือวิกฤติ IMF ว่า ทำให้สังคมเกาหลีเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวเกาหลีเชื่อว่าพวกเขามีความเป็นเกาหลีของตนเองอยู่ พอเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้มีการปิดกิจการ การเลิกจ้าง การตกงาน ทำให้ชาวเกาหลีตระหนักรู้ว่า เกาหลีนั้นแยกไม่ออกจากเศรษฐกิจโลก มีความเกี่ยวข้องกับโลกภายนอกด้วย เกาหลีในช่วงปี 1999 จึงมีการแตกขั้ว (Polarization) ระหว่าง กลุ่มคนที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ และกลุ่มคนที่ถูกแยกออกจากโลกาภิวัตน์ ผู้สร้างภาพยนตร์เกาหลีหลังยุควิกฤติ IMF ก็เริ่มตระหนักว่าตนต้องสร้างยี่ห้อบางอย่างขึ้นเพื่อขายในตลาดโลกได้

ศ. Kim บอกว่าคำว่ากระแสเกาหลีหรือ Korean Wave เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อเกาหลีนำนักร้องไปแสดงที่กรุงปักกิ่ง จากนั้นจึงพูดถึงปรากฏการณ์เกาหลีในเอเชียว่า เนื้อหาของความบันเทิงจากเกาหลีมีเรื่องความภาคภูมิใจในเชื้อชาติและวัฒนธรรมเกาหลีอยู่สูงมาก (Very Strong Nationality Pride) เป็นเรื่องทางธุรกิจอยู่สูงในในการทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าซึ่งก็ต้องแข่งกับวัฒนธรรมของชาติอื่นในยุคสมัยนั้น อย่าง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง แต่ที่เกาหลีประสบความสำเร็จได้เพราะรัฐบาลสนับสนุนมาก โดยสาเหตุหนึ่งที่สินค้าวัฒนธรรมเหล่านี้เติบโตคือการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศนั้น ๆ

ศ. Kim ขยายความต่อว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งในความบันเทิงของเกาหลีเป็นการแสดงถึงความปรารถนาของชนชั้นกลางใหม่ คือความต้องการความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) การไล่ตามวัฒนธรรมเชิงวัตถุ (Persuing Material Culture) ทำให้เกิดประแสเกาหลีขึ้นในเอเชีย

จากประเด็นที่ผ่านมาเป็นการมองจากมุมมองของผู้ผลิต ศ. Kim จึงชวนมามองในฐานะผู้บริโภคบ้าง โดย เริ่มจากเรื่องของความเป็นแฟน หรือ แฟนดอม ในสิ่งบันเทิงที่มาจากเกาหลี โดยได้ขยายความว่า แฟนดอม เป็นการแสดงออกของความรู้สึกที่มีความผูกพันทางอารมณ์มากกว่าธรรมดา

โดย ศ. Kim ยกตัวอย่างกรณีของ เบยองจุน ดาราเกาหลีจากซีรี่ส์เรื่อง Winter Sonata (ชื่อไทยคือ “เพลงรักในสายลมหนาว”) หากเป็นคนทั่วไปที่ไม่มีความเป็นแฟนดอม ถ้า เบยองจุน ไปเล่นเรื่องไหนดีก็จะชม แต่ถ้าอีกเรื่องหนึ่งเล่นได้ไม่ดีก็จะด่าได้ แต่ผู้ที่มีความเป็นแฟนดอม ไม่ว่าเขาเล่นเรื่องไหนก็จะตามดูและไม่วิจารณ์

ศ. Kim กล่าวต่อในประเด็นเดียวกันว่า กลุ่มแฟนดอมเหล่านี้มักเป็นชนชั้นกลาง เป็นแม่บ้านและเป็นวัยรุ่น และคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมชั้นสูงได้ ความเป็นแฟนดอมมักโดนดูถูกจากนักวิจารณ์ นักวิจารณ์มักบอกว่าพวกแฟนดอมเป็นพวกที่มีปัญหาทางอารมณ์ จึงยึดติดกับบุคคลเหล่านี้เพื่อเป็นการชดเชย จนกระทั่งมีนักวิจารณ์อายุ 72 ปี คนหนึ่งออกมาบอกว่าตนเป็นแฟนดอมของเบยองจุน จึงเริ่มทำให้คนยอมรับว่า แฟนดอมไม่ได้งี่เง่าเสมอไป

ศ. Kim เล่าให้ฟังช่วงที่ไปสำรวจเรื่องกระแสเกาหลีที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเคยมีความขัดแย้งกับเกาหลีมาก่อน ทำให้ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่สามารถแสดงความชื่นชอบในตัวดาราเกาหลีได้มากเท่าแสดงออกถึงความชื่นชอบในตัวดาราตะวันตก เช่น มาดอนน่า ขณะเดียวกันคนที่เป็นปัญญาชน (Intellectual) มักจะปกปิดความชื่นชอบละครเกาหลีเอาไว้เพราะต้องการวางตัวว่าเป็นผู้มีภูมิความรู้



จากนั้น ศ. Kim ก็ได้แสดงความเห็นว่า ไม่ต้องการให้มอง แฟนดอม ว่าเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป ทุกคนต่างมีความเป็นแฟนดอมได้ อยากให้มองมันในเชิงบวกและไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อชนชั้นสูงได้ อยากให้มองมันในแง่เป็นทรัพยากรเชิงสัญลักษณ์ในชีวิตประจำวัน (Symbolic Resource in everyday life) คือ เป็นวิถีทางแสดงอัตลักษณ์ตาม เพศ / ชนชั้น ฯลฯ

ศ. Kim ตั้งข้อสังเกตอีกว่าตัวเอกผู้ชายในละครซีรี่ยส์ของเกาหลีมักมีพระเอกที่ดูมีความเป็นโลกาภิวัตน์ (Globalized) ดูมีหน้าที่การงานฐานะพรั่งพร้อม แต่เป็นคนที่มีปัญหาด้านจิตใจ ขณะที่ภาพของฝ่ายหญิงจะเป็นคนที่มีหัวใจ และรักพระเอก อาจเป็นภาพแทนคนดูผู้หญิงที่อยากจะเข้าไปให้ถึงความ Globalized นี้ด้วยก็ได้ โดย ศ. Kim มองว่านี่ถือเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ในช่วงแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น มีท่านหนึ่งเสริมต่อเรื่องความเป็นโลกาภิวัตน์ของพระเอกในละครเกาหลีว่า ตัวเอกที่มีปัญหาด้านจิตใจมีความหวั่นไหวทางอารมณ์ อาจเป็นการแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของชาวเกาหลีหลังจากยุคโลกาภิวัตน์ โดยพวกเขาจะแสดงอารมณ์ออกมาเป็นศิลปะแบบ Pop ได้ดี ขณะเดียวกันนางเอกในเรื่องก็แสดงถึงความเป็นท้องถิ่นที่จะเข้ามาเยียวยาจิตใจของพระเอก



มีคนถาม ศ. Kim ให้แสดงความเห็นถึงละครชุดเรื่อง แดจังกึม และถามว่าตัวละครอย่างแดจังกึม เป็นตัวละคร ที่ดำรงขนบธรรมเนียมเดิม (Traditional) หรือพยายามแหกขนบ ศ. Kim บอกว่า ละครชุดเรื่อง แดจังกึม มีคนดูหลากหลายตั้งแต่คนหนุ่มสาว ถึงนักวิชาการ และแต่ละคนก็เลือกดูในมุมมองของคน เช่น ผู้ชายจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องรักใคร่ พอลองไปถามนักสตรีนิยมชาวญี่ปุ่น เขาบอกว่าดูแดจังกึมเพราะอาหาร ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองหรือสถานภาพของตัวเอกในเรื่อง จริง ๆ เรื่องแดจังกึม มีทุกมุมให้กับคนดู ไม่ว่าคุณจะดูเพราะเรื่องอาหาร เรื่องรักใคร่ (Romance) ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น (Class Conflict) เพศสภาพ รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ของคน แล้วแต่จะเลือกสมาทานตัวเองในส่วนใด

ศ. Kim พูดถึงแดจังกึม ในเรื่องเพศสภาพว่า เรื่องนี้ฉายภาพให้เห็นเกี่ยวกับเพศหญิงที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ของรัฐ (Public Sector) เป็นคนที่ไม่ดำเนินตามขนบของเพศหญิง (Woman Code) และฝ่าเส้นกั้นของขนบโดยการได้เป็น Instructor ด้วยตนเอง

ศ. Kim ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ละครเกาหลีคนเขียนสคริปต์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่หัวก้าวหน้า (Progressive Women) โดยตรงนี้เป็นผลพลอยได้มาจากการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคก่อนหน้านี้ แต่การเขียนสคริปต์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างอิสระเสียทั้งหมด มีบางส่วนที่ต้องถูกตัดทอน แก้ไขในช่วงโปรดักชั่นด้วยเหตุผลทางการตลาด เรื่องแดจังกึมเองก็มีบางเรื่องที่เขียนไม่ได้ ต้องถูกแก้ไข

มีผู้ร่วมฟังการบรรยายท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า เมื่อเทียบเรื่องละครเกาหลีกับละครไทยแล้ว คนไทยกลุ่มที่อยู่ในระดับล่างอาจไม่มีเวลามากนักจึงต้องดูละครที่ไม่มีพล็อทซับซ้อน มีความ Sophisicate หรือต้องใช้สมาธิมาก อย่างคนที่ขายก๋วยเตี๋ยวก็จะสามารถลวกก๋วยเตี๋ยวไปด้วย ดูไปด้วยได้ ในประเด็นนี้เอง ศ. Kim ก็บอกว่าในเกาหลีก็จะมีละครอีกจำพวกหนึ่งที่เรียกว่า No-end Drama เป็นละครที่ทำป้อนให้ลูกค้าที่ไม่ใช่ชนชั้นกลาง อาจจะเป็นแม่บ้าน คนทำงาน ได้ดูด้วย

http://www.prachatai.com/

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.