สุทธิชัย หยุ่น
ปรากฏการณ์ ‘คลั่งเกาหลี’กับ ‘แซนวิชโซล’
Posted by สุทธิชัย หยุ่น
ไปกรุงโซล, เมืองหลวงเกาหลีใต้, ครั้งนี้ จึงได้รับรู้ว่าคนเกาหลีเองนั้นเขามองตัวเองด้วยความรู้สึกผสมผสานระหว่างความภาคภูมิกับความกริ่งเกรง
ภาคภูมิว่าได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของโลก, แต่ก็กริ่งเกรงว่า “วิกฤตเศรษฐกิจกิมจิ” ที่ตาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ของไทยปีนี้ครบรอบ ๑๐ ปี, จะมีโอกาสหวนกลับมาหลอกหลอนอีกหรือไม่?
ด้านบวกคือปรากฎการณ์ “คลื่นเกาหลี” หรือ Korean Wave ที่มาในรูปของละคร, หนัง, เพลงและวัฒนธรรมที่กลายเป็น “สินค้าส่งออก” อันเลื่องลือและต่อเนื่อง, อีกทั้งยังสะท้อน “พลังด้านนุ่ม”หรือ soft power ของเกาหลีที่ตัดกับภาพมุทะลุและแข็งกร้าวของคนเกาหลีในต่างประเทศ
คำว่า “คลื่นเกาหลี” นั้นภาษีเกาหลีเขาเรียก Hallyu ซึ่งยังเป็นหัวข้อวิจัยอย่างลุ่มลึกว่าเหตใดอยู่ดี ๆ จึงเกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่สะท้อนในละครทีวี “แดจังกึม” หรือหนังรัก ๆ ใคร่ ๆ เช่น Winter Sonata นั้นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากหนังญี่ปุ่นหรือจีนหรือฮ่องกงหรือไต้หวันมากมายนัก
จึงเกิดคำถามว่าต้องมีอะไรใน “ความเป็นเกาหลี” สมัยใหม่ที่สร้างความฮือฮาได้ถึงเพียงนี้
ภาษีจีนเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า Hanliu ซึ่งเป็นการเล่นคำจากความหมายที่ทับซ้อนกันได้
คำว่า “หาน” แปลว่าเย็นยะเยือกก็ได้, เสียงเดียวกันแต่คนละคำ, “หาน” คือคำที่เรียกเกาหลี
คำว่า “หลิว” คือกระแสน้ำหรือแปลว่า “ปรากฎการณ์แห่งความร้อนแรง” ก็ได้เช่นกัน
เล่ากันว่าคำว่า “คลื่นเกาหลี” ครั้งแรกนั้นไม่ได้เกิดจากเกาหลีด้วยซ้ำ หากแต่มาจากเมืองจีนที่ดูหนังฟังเพลงของเกาหลีแล้ว, ก็เกิดความรู้สึกชื่นชมทั้งในหมู่หนุ่มสาวและคนรุ่นใหม่, โดยไม่ได้นัดหมายกัน
ผมถามเพื่อนนักหนังสือพิมพ์เกาหลีคนหนึ่งว่าคนเกาหลีเองค้นพบแล้วหรือยังทำไมจึงกลายเป็นขวัญใจของคนมากมายหลายประเทศเช่นนั้น, เขายอมรับว่าแม้จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและพยายามจะตั้งคำถามเดียวกัน, “ผมก็ยังงง ๆ อยู่เหมือนกัน”
เขาบอกว่าสาเหตุหนึ่งที่พอจะอนุมานได้คือการที่เกาหลีกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอยู่แถวหน้าแล้วแต่ก็ยังผลิตหนัง, ละคร, และเสียงเพลงที่สะท้อนถึงประเพณีเก่าแก่ที่ยึดมั่นในค่านิยมของครอบครัว, ความรักระหว่างคนในบ้าน, ความผูกพันกับประเพณีและความจงรักภักดีต่อสถาบันเก่าแก่
“แต่ผมขอบอกคุณนะว่าสังคมเกาหลีที่สะท้อนในละครและหนังเกาหลีที่โด่งดังไปทั่วเอเชียนั้นอาจจะไม่ใช่สภาพที่แท้จริงของสังคมเกาหลีวันนี้...ดังนั้น, อย่าได้ถามหามันกับเกาหลีในยุคใหม่นะครับ...หนังก็คือหนัง, ละครก็คือละคร” เพื่อนนักหนังสือพิมพ์คนนั้นรีบเตือนผมก่อนที่ผมจะถามไถ่เรียกหาความเป็นจริงของสังคมวันนี้
หรือมันสะท้อนสิ่งที่ขาดแคลนในสังคมเอเชียส่วนใหญ่? พอเห็นละครเกาหลียกเอาความสวยงามน่ารักและอบอุ่นแห่งอดีต, ก็จึงอยากไขว่คว้าหามัน, เหมาเอาว่าคนเกาหลีใต้ได้ค้นพบมันก่อนคนเอเชียอื่น ๆ อย่างนั้น
วันนี้, เกาหลีใต้เป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ ๑๐ ของโลก และมีรายงานข่าวบอกว่าอาจจะเป็นประเทศที่ผลิตภาพยนตร์อันดับที่ ๙ ของโลกแล้ว
ดาราดังอย่าง Bae Yong Joon ที่แสดงเป็นพระเอกของ Winter Sonata โด่งดังถึงขั้นที่เรียกค่าตัว ๕ ล้านเหรียญหรือ ๑๗๕ ล้านบาทต่อเรื่อง, ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในเอเชียวันนี้ และรายงานข่าวล่าสุดบอกว่าดาราชายเกาหลีอย่างน้อยอีก ๙ คน, สามารถทำรายได้ให้กับตัวเองไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๐ ล้านเหรียญหรือ ๓๕๐ ล้านบาท
นักร้องเกาหลีคนดังอย่า Rain ไปแสดงคอนเสิร์ตที่ Madison Square Garden ที่สหรัฐฯ ปีที่แล้ว, ตั๋วชายเกลี้ยงทั้งสองรอบภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประกาศขาย
แน่นอนว่า, กระแสต่อต้านเกาหลีก็ย่อมจะเกิดตามมาหากไม่มีการ “บริหารภาพลักษณ์” ให้เป็นทางบวกให้ต่อเนื่อง...รัฐบาลเวียดนามเพิ่งประกาศว่าถ้าหากสถานีโทรทัศน์ที่นั่นไม่เอาหนังหรือละครเวียดนามมาให้คนดูมากกว่าหนังเกาหลี, ก็จะมีมาตรการจำกัดการออกอากาศของหนังเกาหลีที่นั่น
ที่ญี่ปุ่น, ขณะที่วัยรุ่นและแม่บ้านกำลังติดละครและเสียงเพลงของเกาหลีอย่างหนัก, ก็เพิ่งมีหนังสือการ์ตูนภายใต้ชื่อ “เกลียดคลื่นเกาหลี” ออกมา, ขายดิบขายดีถึงขั้นมีการเตรียมจะออกเล่มใหม่ออกมาในเร็ว ๆ วันนี้
สิ่งที่คนเกาหลีต้องเป็นห่วงอีกด้านหนึ่งคือเศรษฐกิจที่อาจจะมาถึงจุดอิ่มตัว, เพราะถูกจีนและญี่ปุ่นบีบจากทั้งซ้ายทั้งขวา, ที่เรียกว่า “ปรากฎการณ์แซนวิชเกาหลี” จะหลุดรอดจากแรงกดดันนี้ได้อย่างไร?
สุทธิชัย หยุ่น
www.oknation.net/blog/black
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.