7.3.09

นโยบาย การส่งเสริม "Korea Wave" ของรัฐบาลเกาหลี


The Ministry of Culture and Tourism Committee of South Korea

http://www.mct.go.kr/english/index.jsp


นโยบาย การส่งเสริม "Korea Wave" ของรัฐบาลเกาหลี

ยุคนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักซีรี่ส์เกาหลี มีหลายคนติดกันงอมแงม เนื่องจากพระเอก นางเอก หรือพล็อตเรื่องเองที่น่าสนใจ ทำให้อิทธิพลและวัฒนธรรมเกาหลีแทรกซึมเข้ามาในสังคมไทยอย่างไม่รู้ตัว ไม่ใช่เพียงแค่ซีรี่ส์เท่านั้นที่มาตีตลาดละครไทยและกระชากใจคนดูชาวไทยไปมากมาย รวมไปถึงวงการเพลงและนักร้องวัยรุ่ย โดยเฉพาะบอยแบนด์ – เกิร์ลกรุ๊ป ที่คัดเลือกแต่นักร้องหน้าตาหล่อ สวย น่ารัก ดูบ้องแบ๊ว (ขอใช้ศัพท์วัยรุ่น) เช่น เรน, เซเว่น, ดงบังชินกิ, ชินวา, โบอา, วันเดอร์ เกิร์ล เป็นต้น มาดึงเรทติ้งนักร้องไทยได้อย่างท้วมท้น ซึ่งส่งผลให้วงการเพลงไทยบ้านเราในปัจจุบันต้องเฟ้นหานักร้องหน้าตาเทรนเกาหลีมาลงสนามแข่งกับม้ามืดเกาหลีเต็มแผงทป เช่น กอล์ฟ-ไมค์, โฟร์-มด, เคโอติก, พายุ เป็นต้น ด้วยเหตุผลนี้ง่ายนี้เองส่งผลให้ประเทศเกาหลีกลายเป็น 1st destination ของคนไทยทันที ดังนั้น บริษัททัวร์เกือบทุกที่เลยก็ว่าได้ ที่นำเสนอโปแกรมทัวร์เกาหลีแบบตามรอยซีรี่ส์ดัง เช่น Full House, แดจังกึม, Autumn in my Heart, My Girl เป็นต้น คนไทยแห่กันไปเที่ยวอย่างมากมาย กลายเป็นที่มาของ เกาหลีฟีเวอร์ในขณะนี้ ...แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังของความสำเร็จนี้ได้มีการเตรียมการวางแผนไว้อย่างดี ซึ่งแผนที่ว่านี้ เรียกว่า แผน 5 ปี (Five Year Plan for New Korea Culture) เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการทางวัฒนธรรม (Cultural Welfare State) โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของภาคประชาชนอย่างเต็มที่

เรามาดูที่มาของแผนการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้

อ้างอิงจากบทความ “เกาหลีฟีเวอร์ : การถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านสื่อ” เขียนโดย ดร. เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ กรมองค์การระหว่างประเทศ ที่ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้กำหนดทิศทางสำหรับนโยบายทางวัฒนธรรมสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในปี พ.ศ. 2540 ในรายงานที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรม 2000 (Cultural Vision 2000) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ด้านวัฒนธรรม ดังนี้
- สนับสนุนการศึกษาเพื่อผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม
- ขยายการสนับสนุนงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
- อนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม
- พัฒนาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติที่จะไปสู่การรวมชาติ
- สร้างความแข็งแกร่งให้กับการทูตเชิงวัฒนธรรม

กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการด้านวัฒนธรรม โดยมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมวัฒนธรรม ศิลปศึกษา อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม กิจการศาสนา กิจการเยาวชน การท่องเที่ยว กีฬา ภาษา และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ และให้มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วย 5 สถาบัน ดังนี้ 1. มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งเกาหลี 2. สถาบันศิลปะแห่งชาติ (National Academy of Art) 3. กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมถิ่น (Provincial cultural promotion funds) 4. คณะกรรมการศิลปธุรกิจแห่งเกาหลี (Korea Business Council for the Arts : KBCA) 5. สำนักงานอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Cultural Industry Bureau) และ 6. บรรษัทส่งเสริมการทำภาพยนตร์แห่งเกาหลี (The Korea Motion Picture Promotion Corporation : KMPPC)

หลังยุคฟองสบู่แตกในเอเชีย รัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบันได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการพัฒนาให้วัฒนธรรมเกาหลีกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ จึงจัดตั้ง องค์การวัฒนธรรมและสารัตถะเกาหลี (Korea Culture and Content Agency – KOCCA) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การถ่ายทอดเนื้อหาสาระความเป็นเกาหลี (Korea Content) แนวคิดในการจัดตั้ง KOCCA เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยเห็นความสำคัญของการสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมประเพณีของเกาหลีให้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ โดยใช้จุดแข็งของวัฒนธรรมที่ขายได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนมาก ภายในช่วงไม่กี่ปี KOCCA ทำให้พลังแห่งสื่อทางวัฒนธรรมของเกาหลีแผ่ขยายไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชีย ภาพยนตร์เรื่องยาวชื่อ แดจังกึมเป็นตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนภายใต้กรอบของกลยุทธ์ Korea Content ที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น




อันที่จริงแล้ว ภารกิจหลักของ KOCCA คือ สนับสนุนและส่งเสริมให้นำเนื้อหาสาระความเป็นชาติเกาหลี หรือ Korea Content สอดแทรกลงไปในสื่อบันเทิงต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์ เกม ศิลปะ ดนตรี และ แอนนิเมชั่น โดยพยายามพัฒนาให้กลายเป็นธุรกิจที่สามารถเลี้ยงประเทศเกาหลีได้ ที่สำคัญ มีการสร้างและพัฒนาคน เทคโนโลยี การส่งออก และผลักดันนโยบายต่างๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้ Korea Content จึงไม่ได้ถูกสอดแทรกไว้เฉพาะในสื่อภาพยนตร์เท่านั้น แต่รวมถึงการบันเทิงทุกประเภท ทั้งการ์ตูน เกม เพลง KOCCA ยังทำหน้าที่พัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยมีหน่วยงานอื่นๆ ร่วมสมทบ อาทิ สถาบันส่งเสริมและพัฒนาเกมส์เกาหลี (Korea Game Development & Promotion Institute : KDGI) ที่ดูแลการส่งเสริมด้านธุรกิจเกมส์ โรงผลิตการ์ตูนเกาหลี (Korean Animation Studio) ที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตการ์ตูน เป็นต้น ในอดีต ชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยไม่นิยมดูภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์เกาหลี เพราะมีเนื้อเรื่องซ้ำๆ น่าเบื่อ แต่การพัฒนา Korea Content ช่วยให้คนเกาหลีหันกลับมาดูภาพยนตร์เกาหลีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 เปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไปที่ประชาชนดูภาพยนตร์ที่ผลิตในประเทศเพียงร้อยละ 10 – 20 เท่านั้น



จะเห็นได้ว่าการนำเสนอเนื้อเรื่องของภาพยนตร์เกาหลีสมัยใหม่จะเน้นเรื่องราวของชีวิต การต่อสู้เพื่อความถูกต้องและจริยธรรม มีการถ่ายทอดความความสัมพันธ์อันดีที่เหมาะสมระหว่างผู้คนซึ่งเป็นแนวคิดตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลมาจากขงจื๊อ เช่น ในภาพยนตร์เรื่อง เพลงรักในสายลมหนาว [Winter Sonata]สะดุดรักที่พักใจ (Full House) Ardor หรือ Autumn in my Heart เป็นต้น ภาพยนตร์บางเรื่องก็ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในทางสร้างสรรค์ การรักชาติและต้องการให้เกิดการร่วมชาติ เช่น เรื่อง The classic (คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต) TAEGUKGI (เลือดเนื้อเพื่อฝันวันสิ้นสงคราม) และ Ditto (รักต่างมิติ) ที่เต็มไปด้วยฉากของสงคราม ความเสียสละ และการเรียกร้องให้เกิดการปรองดองสมานฉันท์ของคนเกาหลีเหนือ-ใต้ นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์โรแมนติกที่เน้นความสวยงามของธรรมชาติผสมผสานกับแนวคิดแบบเต๋า และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเช่น Winter Sonata, One Find Spring Day Christmas in August เป็นต้น



ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรมข้ามชาติของเกาหลีคือ ความตั้งใจในการกำหนดนโยบายและการพัฒนากลไกของรัฐบาลในการส่งเสริมวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่และได้รับการฟื้นฟู จนสามารถเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนต่ำโดยเปรียบเทียบ ดึงดูดการท่องเที่ยวและการส่งออกไปขายเพื่อนำรายได้เข้าประเทศนั่นเอง

*** ทีมงานต้องขออภัยท่านเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี่ เพราะจำไม่ได้ว่าเป็นท่านใดเขียน หากท่านใดทราบขอความกรุณาช่วยฝากข้อความไว้ที่ Talking Box ด้วยค่ะ ***

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.