22.10.09

แมกไม้ในสวน

บัวน้อย ลอยชูช่อรออรุณ
นี่คือบัวสาย ที่มีอยู่ทั่วหนองน้ำ ลำคู ของเมืองไทย ครั้นยามสายดอกก็จะหุบ คนในชนบทแทบทุกบ้านจะผูกพันกับบัวสาย เห็นอยู่ทุกวันก็เลยมองข้ามความสวยงามของบัวสาย ซึ่งคนที่ถ่ายภาพเก่งจะสื่อได้สวยงามกว่านี้แน่นอน มี สีขาวด้วยอีกสีหนึ่ง คนในชนบทก็เห็นแต่ คุณประโยชน์ เก็บไปขายได้และใช้ ทำกับข้าวได้หลายอย่าง ทั้งผัด แกงส้ม จิ้มน้ำพริก ต้มกะทิสายบัว


ต่อเนื่องกับที่ คุณ OY เชิญเที่ยวทั่วไทย พลอยโพยมเลยขอพาเพื่อนๆคนไทย ด้วยกัน ไปเที่ยวสวนกันบ้าง เป็นสวนแถบริมแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเฃิงเทรา แต่มีบรรยากาศสวนให้ดูน้อยมาก แถมถ่ายภาพไม่เป็นเพิ่งหัดถ่ายมือใหม่หัดถ่าย ขอเป็นภาพ ผลิตภัณฑ์จากสวนแทน

จากที่เคยใช้เข็มและด้าย ในการเย็บแบบ การร้อยมาลัย ร้อยอุบะ ทำดอกไม้สด
คราวนี้ ขอชวนมาออกกำลังด้วยการจับจอบและเสียม ขุดดิน ฟันหญ้า ทำสวน บ้างละ

บ้านในชนบท มีต้นไม้ 3 ชนิด ที่ถือว่า มีกันแทบทุกบ้าน และถือเป็นไม้สารพัดประโยชน์ ใช้ส่วนต่างๆของต้นไม้ได้ทุกอย่าง คือ ไผ่ กล้วยและมะพร้าว




เพื่อนๆ คงทราบคุณประโยชน์ของน้ำมะพร้าวอ่อนกันมากแล้ว เมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งอีเมล์ที่ส่งต่อๆกันมา ทั้งรายการโทรทัศน์ นำเสนอคุณประโยชน์ของน้ำมะพร้าวมากมาย ในครั้งสงครามโลก (ไม่แน่ว่าครั้งไหน)ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ หาน้ำเกลือไม่ได้ ก็ใช้น้ำมะพร้าวนี่แทนน้ำเกลือ รวมทั้ง พิธีการต่างๆ มัก ต้องมีมะพร้าวอ่อนทั้งผลร่วมพิธี ทั้งงานมงคลและอวมงคล เราถือกันว่า น้ำมะพร้าวนี้บริสุทธิ์มาก และมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย


คุณประโยชน์ของน้ำมะพร้าว ก็ Search อ่านกันเองนะคะ น่าทึ่งจริงๆ มีรายละเอียดให้อ่านถึงขั้นว่า ในน้ำมะพร้าวอ่อนมีสารอะไรบ้าง กี่ เปอร์เซ็นต์ กันเลยทีเดียว


โดยส่วนตัว เนื่องจากเป็นชาวสวนมาก่อน ดังนั้น เมื่อหาขนมอื่นๆในบ้านไม่ได้ ก็ถือ ไม้ขอ ไปสอยมะพร้าวที่ต้นรับประทาน ชาวสวนเขาจะใช้มีดสับเปลือกมะพร้าว ที่ผลมะพร้าว แทนช้อน ในการแคะเนื้อมะพร้าวอ่อน ดังนั้นถ้ามีมีดและไม้ขอก็ได้รับประทานทั้งน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าวอ่อนกันแล้วที่โคนต้นมะพร้าวนั่นเอง


ศัพท์ชาวสวนเกี่ยวกับเนื้อมะพร้าว ถ้าเนื้อมะพร้าวบางๆใสๆเราจะเรียกว่ามีเนื้อ 1 ฃั้น แล้วก็ ชั้นครี่ง ซึ่งเป็นเนื้อมะพร้าวบริเวณขั้วมะพร้าวที่จะออกเป็นจาวมะพร้าวยังไม่เต็มดีนัก เนื้อมะพร้าวที่กำลังอร่อย ไม่อ่อนไม่แก่ คือเนื้อมะพร้าว 2 ชั้น ถ้ามากกว่า 2 ชั้น เนื้อมะพร้าวอ่อน ก็ไม่อร่อยแล้ว ที่เวลาเพื่อนๆ ซื้อทาน แล้วบ่นกันว่า เนื้อแข็ง นั่นคงเป็นเนื้อมะพร้าว 2 ชั้นครึ่ง แล้วกระมัง



ตระกร้าใบนี้ น่าจะจุมะพร้าวได้ ยี่สิบกว่าผล ที่เห็นในภาพ 16 ผล นี่คือมะพร้าวอ่อนจากดอนควายโทน ผู้เขียนขอรับประกันคุณภาพว่าน้ำหวานจริงๆ และ ณ วันนี้ น่าจะปลอดสารพิษ ที่ใช้กำจัดแมลง ศัตรูตัวร้ายของมะพร้าว คือ ด้วงมะพร้าวนั่นเอง

ก้อนดำๆ 4 ก้อน คือ มัน ชื่อ มันจาวมะพร้าว

ส่วนที่อยู่หน้าสุด คือ มันมือเสือ มองดูคล้าย มือเสือ ตีนเสือ ไหม มีขนเส้นเล็กๆ ด้วยถ้าสังเกตให้ดี มันนี้ จะนึ่งหรือต้มสุกแล้วปอกเปลือกฝานบางๆทานกับน้ำกะทิ อร่อย เนื้อมันเหนียวอร่อยมาก

พลอยโพยมคนเดียวทานมะพร้าวอ่อนนี้สัปดาห์ละ15-20 ผล
ดูขนาดและรูปร่างมะพร้าวอ่อนให้ชัดๆ อีกที



จนบัดนี้ ห้าสิบกว่าปีแล้ว ก็ต้องขอยอมรับมะพร้าวอ่อนที่ซื้อมาจากชาวสวนที่นำมาขายที่ตลาดนัดวันอาทิตย์ที่ว่าการอำเภอ เป็นมะพร้าวอ่อนจากตำบล ดอนควายโทน อำเภอบ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา นี่เอง และแม้แต่สวนเดียวกัน มะพร้าวก็อร่อยไม่เหมือนกัน จำได้ว่า เมื่อสองปีกว่าๆ พบแม่ค้านั่งปอกมะพร้าวขายที่ตลาดนัด ก็ถามว่า “ป้าจ๋า เป็นมะพร้าวน้ำหอมหรือเปล่า” ป้าแอ๊ด ตอบแบบหยิ่งๆมาก ว่า หอมหรือไม่หอม ไม่รู้ แต่มะพร้าวฉัน น้ำหวานก็แล้วกัน ก็เลยลองซื้อมา น้ำมะพร้าวอร่อยหวานจริงๆ 2 ปีกว่า ที่เป็นขาประจำป้าแอ๊ด บางอาทิตย์ ซื้อถึง 60 ผลเพราะเอาไปแบ่งให้เพื่อนๆ ร่วมงาน และน้องๆ ที่ทำงาน
มาจนปัจจุบัน หากมีการนัดพบปะเพื่อน ๆ ทั้งเพื่อนร่วมเรียน เพื่อนร่วมงาน ทุกคนก็หวัง ว่า จะได้รับประทาน มะพร้าวอ่อนอร่อย จากดอนควายโทนนี้


และเท่าที่สังเกตมา 2 ปีกว่า หากไม่ใช่มะพร้าวผลเล็กรูปทรงที่ถ่ายมาให้ดู แม้จะมาจากสวนของป้าแอ๊ดเอง ก็ไม่โดดเด่นของความหวานอร่อยของน้ำมะพร้าว



มะพร้าวอ่อนที่อร่อย ต้องไม่ลูกใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นมะพร้าวอ่อนรูปผล กลม ๆ ยิ่งไม่อร่อยขึ้นไปอีก และน้ำมะพร้าว หน้าแล้ง น้ำจะหวานยิ่งกว่า หน้าฝน

มะพร้าว หนึ่งทะลาย ก็จะมีเนื้อมะพร้าว แก่อ่อนไม่เท่ากัน ผลที่ติดกับจั่นมะพร้าวด้านหัว เนื้อจะอ่อนกว่าด้านปลายทะลาย คนที่ชำนาญดูแค่สีผิวของผลมะพร้าวบนต้นก็ทราบแล้วว่าเนื้อมะพร้าวข้างในเป็นอย่างไร เนื้อกี่ชั้น

การรับประทานมะพร้าวอ่อน มากๆ ก็มีความไม่ปลอดภัย จากสารเคมี ที่คนปลูก อาจจะใช้ โรยที่บริเวณโคนต้นมะพร้าวหรือห่างออกไปเล็กน้อย เพื่อป้องกันแมลงศัตรู เช่น สารเคมีที่ชื่อฟูราดาน แล้วมะพร้าวก็จะดูดซึมสารนี้เข้าไป หากผลิตผลของมะพร้าวอยู่ในช่วงที่ใส่สารนี้ ก็ถือว่าอันตรายสำหรับผู้บริโภคแน่นอน สำหรับสวนป้าแอ็ด ที่เล่ามา พลอยโพยม ก็เคยไปดูที่สวนมา เชื่อตามหลักว่า ป้าแอ๊ด ดูเป็นคนซื่อ ๆ พลอยโพยม บอกป้าแอ๊ดว่า กินมะพร้าวป้าแอ๊ดเยอะขนาดนี้ ถ้า ป้าแอ๊ด ใส่ สารนี้ แล้ว บอกว่าไม่ได้ใส่ มันมีโทษกับร่างกาย ถ้าพลอยโพยม เป็นอะไรไป ป้าแอ๊ด จะบาปมาก ที่โกหก และทำให้ พลอยโพยม ได้รับสารพิษ บาปกรรม 2 ชั้นเลย ป้าแอ๊ด ก็ทำหน้าตากลัวบาปกรรมอยู่นักหนา เพราะเท่ากับผิดศีลข้อ 4 และข้อ 1 เลยทีเดียว


แล้ว ลองมาดู หน้าตา มะพร้าวอ่อน จากต้น ที่บ้านทางสามีเอง




ทุกต้นที่ปลูกไว้เป็นมะพร้าวน้ำหอม แต่ต้องหลบฉากไปยืนเข้าแถวด้านข้าง ให้ มะพร้าวในตะกร้าค่ะ และพลอยโพยม ก็ยอมเสียเงินซื้อมะพร้าว ไม่รับประทานทานของฟรีเหล่านี้ ทั้งที่สามารถมั่นใจ100% ในความปลอดภัยในชีวิต แม้จะได้มาทีละทะลาย ไปเมื่อไรก็ตัดมาได้เลย ไม่ต้องสอยทีละผล เพราะพันธุ์เตี้ยด้วย
ต้นมะพร้าวเหล่านี้ มักปลูกรอบบริเวณบ้าน แต่ยังไม่ใช่สวน


มีสวนของญาติสวนหนึ่ง ถือเป็นสวนอนุรักษ์ เจ้าของสวนเป็นลูกสาวกำนันคนละตำบลกับ พ่อกำนันของสามีพลอยโพยม เธอจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนที่ราชภัฎ และ ขอ early Retire มา
พี่ๆน้องๆ ของบ้านนี้เป็น นายพลของกองทัพอากาศอากาศถึง 2 คน มีน้องเป็นแพทย์หญิงด้วย พี่สุกัลยา นาคะพงศ์ มีคำคมที่กินใจมาก ว่า เราไม่ควรลืม รากเหง้าของเรา บรรพบุรุษเราเป็นชาวสวนมาหลายชั่วคน ด้วยเหตุนี้ ก็เลยมีสวนเก่าให้ได้ไปนึกย้อนความหลังครั้งยังเยาว์ ได้

ทั้งตำบลที่พลอยโพยมเคยเติบโตมา เหลือสวนนี้ที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อห้าสิบปีก่อนเพียงสวนเดียว เพราะสัก 10 ปีก่อนนี้ แทบทุกบ้าน ลบที่สวน เลี้ยงกุ้งกุลาดำกันทั้งบาง ทำให้ ตอนนี้ ไม่มีท้องนาที่ปลูกข้าวเลย ทั้งสวนและนา เป็นบ่อกุ้งบ่อปลาไปหมด บางที่ก็ทิ้งร้าง มีแต่หญ้าขึ้นเต็มไปหมด
ต้องอ้าปากค้าง ที่เห็นสวนนี้หลงเหลืออยู่ สีเขียวๆที่คลุมดินอยู่นั้น เป็นใบบัวบก ที่พี่สุกัลยา ปลูกคลุมพื้นสวนเพื่อไม่ให้ หญ้าที่เป็นวัชพืชขึ้น สวนโปร่งโล่ง มีไม้ใหญ่อยู่แนวนอก ร่มรื่น ลมพัดเย็น เสียงนกร้องเจื้อยแจ้วมากมาย เสียงจากมุมโน้น จากมุมนี้ ประสานเสียงกับเสียงน้ำไหลจากระบบท่อน้ำที่ต่อท่อมาจากคลอง เป็นบรรยากาศที่สมควรแล้วที่พี่เขาเก็บรักษาไว้ อันงานใด ที่พอทำได้เพื่อถือเป็นการออกกำลังกาย พี่สุกัลยาก็ทำเอง งานหนักก็จ้างแรงงาน

เป็นสวนอนุรักษ์ มีพืชผลที่ปลูกเพื่ออนุรักษ์ พันธุ์ไม้ ไม่ได้ปลูกไว้ขาย สวนของนิสิตเกษตรศาสตร์ท่านนี้น่าอยู่มากเลย

ขนาดปัจจุบัน มีน้ำประปาใช้กันแล้ว พี่สุกัลยา ก็ยังอนุรักษ์ บ่อน้ำ บ่อเก่าไว้ สมัยก่อนทุกบ้านต้องมีบ่อน้ำค่ะ เพราะแม่น้ำบางปะกง มีช่วงที่น้ำเค็มไหลล้นเข้ามานานถึง 4-5 เดือน

ผู้เขียนชอบใจต้นอะไร พี่สุกัลยา ก็ขุดให้เดี๋ยวนั้นเลย แถมได้กล้วยน้ำว้าที่ตัดแขวนไว้ก่อนแล้ว มา 1 เครือ บวบที่เก็บสดใหม่เอามาผัดหวานอร่อยมาก


กระบุงนี้ เป็นฝีมือของคุณแม่ พี่สุกัลยาเอง
แทบทุกบ้านมีงานหัตกรรมแบบนี้ น่าเสียดายที่คนรุ่นหลังไม่ได้สืบทอดไว้ เพราะเป็นงานฝีมือ ซึ่งมีขั้นตอนหลายขั้นตอนกว่าจะได้ ตั้งแต่ ตัดไม้ไผ่ ผ่าไม้ไผ่ เหลาไม้ไผ่ เป็นเส้นๆบางๆแบนๆ ขนาดความกว้างและยาว ตามวัตถุประสงค์ของงาน โดยเฉพาะตรงช่วงข้อไม้ไผ่ เป็นอุปสรรคทำยาก หลังจากนั้น ก็นำมาสาน ขึ้นลาย จัดรูปทรง เข้าขอบ และมีไม้เสริม กว่าจะได้กระบุง หรือ กระด้ง ตะแกรง ตะกร้า กระชอน ก็ใช้เวลานาน พวกผู้ใหญ่ที่ทำจะค่อยๆทำไปเรื่อยๆ ตอนว่างจากงานอื่น เหมือนเป็นงานอดิเรกของคนโบราณมากกว่า เพราะไม่ได้ทำขาย ไม่รีบร้อน
มีดสำหรับเหลาไม้ไผ่ เป็นมีดลักษณะพิเศษโดยเฉพาะ
การเข้าขอบต้องมีเครื่องมือคล้ายคีมช่วย



วัสดุที่ใช้ยึดหรือมัด คือหวาย ก็ต้องตัดหวายมาเตรียมไว้ด้วย
ดังนั้น ไผ่ จึงเป็นไม้ที่ทุกบ้านต้องปลูก เหมือนกล้วยและมะพร้าว

ต้นส้มโอ ผลดกมาก แต่เลือกมุมถ่ายแล้วได้ภาพไม่ชัด ที่ชัดก็มีเพียงภาพนี้ น่าอายจริงๆ

ส้มเขียวหวานน่ะเอง

กล้วยหอม เครือหนักมาก ต้องใช้ไม้ช่วยค้ำยัน

ดอกหนำเลียบ ที่สวนจตุจักร เอามาขายเป็นประเภทไม้ดอก ชื่อ เป็นดอกพุดชื่อหนึ่ง จำไม่ได้เสียแล้ว


ผลแก่แล้ว เอาไปดองทานกับข้าวต้มนั่นเอง

ดอกมะเฟือง และผลมะเฟือง


เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน ที่ทำให้ได้ผลิตผลข้างต้น ในภาพเป็นของบ้านของพลอยโพยมเอง หลายชิ้นเป็นอุปกรณ์ ที่ สามี พลอยโพยม สั่งทำมาให้พลอยโพยม ใช้ปลูกต้นไม้โดยเฉพาะจริงๆ (อุปกรณ์ ที่ดู เล็กๆ เพราะพลอยโพยม อายุมาก เหมือนของเด็กเล่นเสียมากกว่า) ส่วนชิ้นใหญ่ๆ ก็เป็นของใช้ปกติของบ้านในชนบทนั่นเอง ของใช้บางชิ้นก็ยกแทบไม่ไหว เพราะเป็นแสตนเลสตันอีกต่างหาก จึงต้องสั่งทำพิเศษอันเล็กให้ผู้สูงวัยใช้โดยเฉพาะ

ที่ลงภาพให้ดู เผื่อมีเพื่อนๆอยากทำสวนบ้าง จะได้ไปสั่งทำอุปกรณ์ที่เหมาะกับวัย สนิมไม่ขึ้นอีกต่างหาก แต่ไม่เหมาะสำหรับอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ๆ เพราะหนักมากเลย ถึงจะทำให้กลวงๆก็เถอะ


แถมท้ายด้วยภาพกล้วยนาก เจอคนเอามาขายเลยขอถ่ายภาพมา มันแค่ดูแปลกตา แต่รสชาติไม่ทราบค่ะ
ภาพต่อจากนี้ไป มาจากโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ฉะเชิงเทรา


มะพร้าวสีทอง
สมัยเด็ก ที่บ้านมีสองต้น แต่เป็นพันธุ์ธรรมดาต้นเลยสูงมากไม่ได้อร่อยเป็นพิเศษที่ตรงไหน เพียงแต่ผลมันสวยดี สมัยนี้ มีพันธุ์ มะพร้าวเตี้ย ก็น่าหามาปลูกกัน

น้อยโหน่ง ไม่ใช่น้อยหน่า

ผลท้อ เมืองไทย

ตอนเย็นๆ ทีวีบ้านเรามีการ์ตูน เรื่องพระรถ เมรี เลยขอเอาภาพ มะม่วงหาวมะนาวโห่มาฝากค่ะ ถ้าแก่แล้วจะเป็นสีดำ ต้นมีหนามด้วยต้องระวัง เป็นต้นไม้ที่ได้เข้าไปขายในสวนจตุจักรอีกตามเคย
หากมีโอกาสคราวหน้า จะพาไปเที่ยวชายน้ำบางปะกง ไปดอกดูลำพูแสนสวยที่หิ่งห้อยชอบกัน แต่ไม่เหลือหิ่งห้อยให้ดูเสียแล้ว เพราระบบนิเวศวิทยาถูกทำลาย พันธุ์ไม้ชายน้ำและสัตว์น้ำหลายชนิดสูญหายไปเป็นสิบปี แต่ก็พอจะมีข่าวดี ว่า มีชายน้ำบางแห่ง เริ่มเกิดหิ่งห้อยบ้างแล้ว ทั้งที่เมื่อก่อนนี้ หิ่งหอยวาววับไปทั้งต้นลำพู

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.