25.1.10

[Old Article] "พิพิธภัณฑ์" สื่อวัฒนธรรม เพื่อการสร้างสรรค์ในเกาหลี




"พิพิธภัณฑ์" สื่อวัฒนธรรม เพื่อการสร้างสรรค์ในเกาหลี
ที่มา : คอลัมน์ Crestive Space BY TCDC : 31 พฤษภาคม 51

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สื่อมากมายต่างตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ “การส่งออกวัฒนธรรม” ของประเทศเกาหลีผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง ส่งผลให้เกิดกระแส “คลั่งเกาหลี” สั่นสะเทือนไปในหลายประเทศแถบภาคพื้นเอเชีย จากความสำเร็จอันรวดเร็วดังกล่าว ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดประเทศไทยเราจึงไม่ปรับเอาวิธีการแบบนั้นมาใช้ให้เกิดเป็นกระแส “บ้าวัฒนธรรมไทย” (Thai Wave) ดูบ้าง

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราจำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตหนึ่งขึ้นก่อน

“ประเทศไทยสามารถนำวิธีการเดียวกันนั้นมาใช้ได้ทันทีเลยจริงหรือ?” เพราะวิธีการแต่ละวิธีนั้นคือผลลัพธ์ที่มาจากปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน”ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศเกาหลีสามารถสร้าง “ผลลัพธ์” แบบนั้นได้ก็คือ ความรู้สึกอันเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในประเทศ ผู้คนที่ “รู้” วัฒนธรรมของตนเองอย่างถ่องแท้ ชาวเกาหลีมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ชัดเจนด้วยเหตุหลายประการ ที่สำคัญคือ “ความต้องการที่จะก้าวสู่เวทีโลกด้วยตัวตนและวัฒนธรรมของตนเองที่โดดเด่นจากประเทศข้างเคียงในกลุ่มเอเชียตะวันออกทั้งหมด” สิ่งใดก็ตามที่ก่อกำเนิดขึ้นจากชาติเกาหลีเอง เขาจะยึดไว้อย่างมั่นคงและเผยพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง

วิธีหนึ่งที่ผู้นำประเทศตลอดจน ผู้ว่าการเมืองสำคัญๆ ของเกาหลี ใช้สื่อสาร “เนื้อหาวัฒนธรรม” กับคนในชาติก็คือ “การสื่อสารผ่านพิพิธภัณฑ์” ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ถ้ามีความสำคัญต่อชาติแล้วล่ะก็ ผู้นำเขาจะจัดทำพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวของเรื่องนั้นๆ ไว้หมด แค่เฉพาะที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ที่นั่นมีพิพิธภัณฑ์มากมายหลายแห่งที่สร้างขึ้นอย่างสวยงาม น่าภาคภูมิใจ และน่าติดตามค้นคว้า

National Museum of Korea


ในกรุงโซลมี National Museum of Korea (พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของเกาหลีแห่งใหม่) ที่ทันสมัยและใหญ่โต มี Kimchi Field Museum (พิพิธภัณฑ์กิมจิ) ที่เล่าถึงความเป็นมาอันยาวนานของกิมจิ ตลอดจนเกร็ดความรู้สารพัดที่เกี่ยวข้อง มีพิพิธภัณฑ์บอลโลกที่อยู่ใน Seoul World Cup Stadium ประกาศความยิ่งใหญ่ระดับโลกของชาติในครั้งนั้น มีพิพิธภัณฑ์ชองเกชอน เล่าถึงโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้กับคลองชองเก(คลองที่มีบทบาทสำคัญอยู่คู่กรุงโซลมากว่า 600 ปี) มีพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์พิพิธภัณฑ์ทางเกษตรกรรม


Seoul World Cup Stadium

พิพิธภัณฑ์นิตยสารเกาหลี พิพิธภัณฑ์ดนตรีประจำชาติ และอื่นๆ อีกมากมายหลายสาขาที่เข้าถึงหน่วยย่อยของสังคม รัฐบาลเกาหลีคอยจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ชาวเกาหลีไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เหล่านี้กันบ่อยๆ ให้พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ได้ทำงานมากกว่าหน้าสมุดบันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการอุ้มชูวัฒนธรรมกลุ่มและความทรงจำร่วมของคนในชาติ ทั้งนี้เพื่อให้คนเกาหลีค่อยๆซึมซับรากฐานทางวัฒนธรรมของตน มองเห็นคุณค่าและต่อยอดคุณค่านั้นให้เกิดเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในอนาคต บางพิพิธภัณฑ์อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์บอลโลกและพิพิธภัณฑ์ชองเกชอน ใช้สื่อนำเสนอที่สร้างอารมณ์ร่วมแบบสุดๆ (คนต่างชาติเดินชมยังอาจรู้สึก “อิน” น้ำตารื้นไปด้วยได้) แต่นั่นเอง คือภาพสะท้อนอย่างหนึ่งของ “ความเป็นเกาหลี” เขาจะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน เต็มที่ ไม่มีกั๊ก ซึ่งบุคลิกแบบนี้เราคงเห็นกันได้จากสินค้าบันเทิงต่างๆของเกาหลี (ที่คงต้องเคยเสพกันมาบ้างไม่มากก็น้อย)

รู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรมของชนชาติอย่างดีนั้นเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศเกาหลีสามารถผลิตภาพวัฒนธรรมบันเทิงของตนได้อย่างมีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นน่าสนใจในสายตาคนภายนอกเห็นชัดจากการเติบโตของซีรี่ส์เกาหลี (อันเกิดจากแรงผลักดันของสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศเกาหลีใต้ ที่อยากให้สอดแทรกเอกลักษณ์จากประเพณีดั้งเดิมไว้ในสินค้าภาพยนตร์) ส่งผลให้ยอดการส่งออกซีรี่ส์เกาหลีเพิ่มขึ้นจาก 400 ล้านดอลล่าร์ ในปี 2000 เป็น 548 ล้านดอลล่าร์ในปี 2003 เลยทีเดียว



ฉะนั้นสำหรับประเทศไทยเรา หากต้องการเดินตามรอยความสำเร็จแบบอย่างเกาหลีแล้ว เราคงต้องตอบคำถามเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดให้ได้ก่อน ประชาชนคนไทยมีสำนึก รู้จัก เข้าใจ และภาคภูมิใจในข้อวัฒนธรรมใดของตนบ้าง อะไรคือ “ความเป็นไทย“ ที่แตกต่างและมีเสน่ห์ดึงดูด อะไรคือคุณค่าที่คนไทยยัง “มี” และ “เป็น”อย่างจริงแท้ในโลกปัจจุบัน (ไม่ใช่แค่ภาพงดงามที่สร้างขึ้นต่อสายตาชาวโลก แต่คนไทยเองในปัจจุบันกลับสัมผัสไม่ได้ถึงตรงนั้น) หากผู้นำไม่สามารถตีโจทย์และแก้ปัญหาเบื้องต้นเหล่านี้ให้ได้ก่อน ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหยิบจับหรือสนับสนุนให้คนไทยนำ “วัฒนธรรมไทย” มาต่อยอดเป็นความสำเร็จ สร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศชาติได้ในเร็ววันการส่งเสริมและจัดการพิพิธภัณฑ์อย่างมีคุณภาพอาจเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเร่งกระบวนการเรียนรู้และรับรู้ด้านวัฒนธรรมของผู้คน โดยผ่านบรรยากาศและการนำเสนอที่สร้างสรรค์ ซึ่งก็ต้องศึกษากันต่อไปอีกว่าการนำเสนอในรูปแบบใดที่จะเหมาะสมกับนิสัยและธรรมชาติของคนไทยเราด้วย

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.