23.10.08

“Drops of God” in New York Times [Thai Version]


Next Week, Our Hero Chooses a Médoc
From NY Times 21/10/08

เมื่อได้จิบไวน์บอร์โดซ์ปี 2001 จากชาโตว์ Mont Perat หยาดเหงื่อไหลรินลงมาตามข้างแก้มของเขา คันซากิ ชิซึกุนึกถึงภาพแผ่นเสียง กีตาร์ และเฟรดดี้ เมอคิวรี่ขึ้นมาทันที

“มันช่างทรงพลัง” เขาเอ่ยถึงไวน์ “แต่ก็เจือด้วยรสหวาน ความฝาดติดปลายลิ้นอย่างน่าประหลาด เหมือนกับเสียงของมือลีดวงควีน ทั้งอ่อนหวานและรุนแรง คละเคล้าไปด้วยท่วงทำนองของกีตาร์และเสียงกลองอันหนักหน่วง”

นับตั้งแต่ปรากฏตัวขึ้นมาเมื่อ 4 ปีก่อน ตัวการ์ตูนขวัญใจที่ชาวญี่ปุ่นอยากเป็นตัวนี้กลับกลายเป็นเสียงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในตลาดไวน์ของเอเชีย

ที่โตเกียวบรรดาผู้ขายไวน์คอยติดตามคำวิจารณ์ของเขาก่อนสั่งของเข้าร้าน ในตลาดใหม่ๆ อย่างไต้หวันหรือจีน คำแนะนำของเขากลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่สำหรับคอไวน์ และในโซล ชาวเกาหลีใต้ตอนนี้รู้จัก “แคว้นผลิตไวน์” และรู้ว่าไวน์แบบไหนควรกินคู่กับอาหารจานไหน
ชิซึกุคือตัวละครในหนังสือการ์ตูน “The Drops of the Gods” ที่เขียนโดยคู่พี่น้องชางญี่ปุ่น นักอ่านชาวเอเชียซึ่งไม่เคยรู้จัก โรเบิร์ต เอ็ม พาร์เกอร์ จูเนียร์ มาก่อน หันมาใส่ใจกับพระเอกการ์ตูนตัวนี้กันแบบตามติด เรียนรู้เรื่องไวน์กันแบบทุกตัวอักษร และได้เห็นภาพที่อาจดูแปลกตาสำหรับพวกเขา

การ์ตูนเรื่องนี้นำเสนอภาพที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากภาพวาด “The Angelus” ของ ฌอง ฟรังซัวส์ มิลเล่ต์ (ในการบรรยายรสชาติของไวน์) และผืนดินอันชุ่มชื้นทางตอนเหนือของโตเกียว (ความยากลำบากในการผลิตไวน์ชั้นยอด)

“นี่เป็นภาพจากไวน์ที่เราดื่มกันจริงๆ” เป็นคำกล่าวของยูโกะ คิบายาชิ วัย 49 ปี ผู้ร่วมสรรค์สร้างการ์ตูนชุดนี้กับน้องชายของเธอ ชิน วัย 46 ปี “มันเป็นเหมือนเกมส์ค่ะ”

คู่พี่น้องคิบายาชิ ซึ่งเขียนการ์ตูนโดยใช้นามปากาว่า ทาดาชิ อากิ เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมาระหว่างที่ทำงานการ์ตูนอีกเรื่องอยู่เมื่อ 4 ปีก่อน ระหว่างที่พวกเขาทำงาน จิตวิญญาณของพวกเขาก็โลดแล่นประดุจไวน์ที่รินไหล

“เราพบว่าตัวเองกำลังมองหาเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังไวน์ที่เราดื่มกัน” คิบายาชิคนน้องกล่าว “มันเริ่มจากไวน์ขวดหนึ่ง ไวน์นี่ต้องเป็นผู้หญิงแน่ๆ”
พี่สาวของเขาบอกว่า “ใช่ เป็นสาวผมดำซะด้วย”

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ที่บ้านคิบายาชิในแถบชานเมืองโตเกียว ทั้งคู่ช่วยกันให้ข้อมูลว่าพวกเขาเป็นคอไวน์มานานแล้ว รักมากขนาดที่อพาร์ทเม้นต์ที่เช่าอยู่มีไวน์สะสมอยู่ถึง 3,000 ขวด และยอมจ่ายค่าติดตั้งระบบเตือนแผ่นดินไหวเพื่อปกป้องไวน์เหล่านี้

แต่ทั้งคู่ไม่ใช่นักชิมไวน์อาชีพ พวกเขาบอกว่าไม่สนใจจะไปแย่งอาชีพซอมเมอเลียร์ แต่อยากบรรยายไวน์จากมุมมองของนักดื่มมากกว่า

ในการ์ตูนของพวกเขา “The Drops of the Gods” เป็นการติดตามชิซึกุไปขณะที่เขาเรียนรู้เรื่องไวน์ ผู้อ่านเองก็เช่นเดียวกัน ตอนเริ่มเรื่อง ชิซึกุทำตัวต่อต้านพ่อของเขาเอง ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ไวน์ชื่อดัง ด้วยการไม่ยอมดื่มไวน์และเลือกไปทำงานบริษัทเบียร์แทน แต่แล้วจู่ๆ พ่อของเขาก็เสียชีวิตลง และทิ้งพินัยกรรมเอาไว้ โดยกล่าวถึงไวน์ชั้นยอดของโลก 12 ชนิด ที่เปรียบเทียบกับสาวกทั้ง 12 ของพระเยซูคริสต์

เขาต้องต่อสู้กับลูกบุญธรรมที่พ่อของเขารับเอาไว้ ซึ่งบังเอิญเป็นนักวิจารณ์ไวน์ชื่อดัง ชิซึกุต้องหาความรู้ใส่ตัวเพื่อจะระบุไวน์ทั้ง 12 ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมให้ได้ เพื่อจะได้รับมรดกคือไวน์จำนวนมหาศาลที่พ่อของเขาสะสมมาทั้งชีวิต

การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ทุกวันพฤหัสฯ ในนิตยสารญี่ปุ่นที่ชื่อ “Weekly Morning” และถูกรวมเล่มได้ 17 เล่มแล้ว และกลายมาเป็นการ์ตูนยอดฮิตในแถบเอเชียตะวันออกอย่างรวดเร็ว ผู้คนที่นั่นยังเรียนรู้เรื่องการดื่มไวน์ และรู้สึกว่ายังไม่รู้จักมันดีพอ แม้แต่ในญี่ปุ่น ตลาดไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุด อัตราเฉลี่ยการดื่มต่อคนต่อปีอยู่ที่ 2 ลิตร ในขณะที่ในอเมริกาอยู่ที่เกือบๆ 9 ลิตร หรือ 56 ลิตรในฝรั่งเศส ตามรายงานของสถาบันไวน์แคลิฟอร์เนีย ปี 2005

ในญี่ปุ่นผู้ขายไวน์รีบซื้อนิตยสารเล่มนี้ทันทีที่มันออกวางแผงทุกวันพฤหัสฯ แล้วรีบโชว์ภาพไวน์ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องทางเว็บไซต์ ตามรายงานของ Enoteca ผู้ชายในวัย 30-50 ปีนิยมถามหาไวน์จากในนิตยสารนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวน์ที่อยู่ในราคาประมาณ 30 ดอลลาร์

การ์ตูนเรื่องนี้มาแรงมากในเกาหลีใต้ ขนาดที่ Mont Perat และไวน์อื่นๆ อย่าง Emmanuel Rouge ขายหมดเกลี้ยงหลังจากปรากฏบนหน้าหนังสือ ในการไปเยือนเกาหลีใต้ครั้งแรกปีที่แล้ว พี่น้องคิบายาชิถึงกับตกตะลึงที่ได้รับการต้อนรับราวกับดาราเลยทีเดียว สถานีโทรทัศน์ถ่ายทำการมาถึงของพวกเขาที่สนามบิน และได้รับการแนะนำให้รู้จักกับผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่อยู่ระหว่างการหาเสียงช่วงนั้นด้วย

คิมจุนชุล วัย 56 ปี ซึ่งเป็นรองประธานสมาคมไวน์ของเกาหลีในโซล และเปิดสถาบันเกี่ยวกับไวน์ของตัวเองด้วย กล่าวว่าการปรากฏตัวของการ์ตูนเรื่องนี้ในฉบับแปลเป็นภาษาเกาหลีช่วยปลุกความสนใจเรื่องไวน์ตั้งแต่ราวๆ ปี 2000 เกาหลีใต้ปิดกั้นเรื่องการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนถึงปี 1987 จึงมีคนจำนวนน้อยนิดที่เคยได้ลิ้มรสไวน์

การ์ตูนเรื่องนี้เปรียบเสมือนตำราไวน์เบื้องต้น มีอิทธิพลแบบที่เหนือความคาดเดา ตัวอย่างเช่น มีความต้องการไวน์เบอร์กันดีน้อยมากขนาดที่โรงแรมใหญ่ๆ ไม่ยอมเสียเงินซื้อมาเก็บไว้ แต่หลังจากการ์ตูนเรื่องนี้กล่าวถึงไวน์เบอร์กันดี ทั้งร้านค้าและโรงแรมพากันแย่งซื้อมาเก็บไว้ในสต๊อค จนทำให้ขายหมดเกลี้ยงชั่วพริบตาเดียว

“ผมรู้สึกได้เลยถึงความแรงของการ์ตูนเรื่องนี้” คุณคิมกล่าว เขายังบอกออีกว่ามีคนสนใจเข้ามาศึกษาเรื่องไวน์ในสถาบันของเขาเพิ่มขึ้นมาก “แม้แต่ลูกๆ ของผมเอง ซึ่งไม่เคยแสดงความสนใจเรื่องไวน์มาก่อนเลย ทั้งๆ ที่ผมเป็นพ่อของเขา ก็เกิดนึกสนใจขึ้นมาทันที”

ที่ Addiction Plus ร้านอาหารอิตาเลี่ยนในกรุงโซล ชายวัย 20 ปลายๆ ถึง 40 ต้นๆ มักถามถึงไวน์ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูน เจ้าของร้าน คิมชินอู วัย 38 ปี กล่าวว่า
“พวกเขาไม่ได้บอกว่าอ่านมาจากการ์ตูน แต่ก็เห็นได้ชัดเลยครับ” คุณคิมกล่าว “พวกเขาพยายามใช้คำว่า “แคว้น” หรือ “ต้องดื่มคู่กับ” เพื่ออวดเพื่อนๆ หรือคู่เดท”

“แต่ผมไม่คิดว่าสาวๆ จะประทับใจหรอกนะ” คุณคิมกล่าวเสริม “ผมบอกได้จากสีหน้าของพวกเธอว่าพวกเธอรู้ว่าเขาไปเอาคำนั้นมาจากไหน เพราะพวกเธอก็อ่านการ์ตูนเรื่องนี้เหมือนกัน”

ไวน์ที่ปรากฏในการ์ตูนคัดสรรโดยพี่น้องคิบายาชิ ซึ่งกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับค่าโฆษณาใดๆ แต่ก็ได้รับไวน์ฟรีจากผู้นำเข้าไวน์ แต่ “จุดยืนของเราก็คือ เราไม่จำเป็นต้องนำไวน์เหล่านั้นมาใส่ในการ์ตูนของเรา” คนพี่สาวกล่าว

ตามปกติแล้วไวน์ฝรั่งเศสจะถูกนำมาเสนอในการ์ตูนชุดนี้มากกว่า คู่พี่น้องคิบายาชิซึ่งเป็นผู้นิยมไวน์ฝรั่งเศสกล่าวว่าพวกเขาไม่รู้สึกว่าไวน์อเมริกันมีความลุ่มลึกแบบไวน์ของโลกเก่า

“ผมไม่รู้สึกถึงความพิเศษ” คนน้องชายกล่าว
พี่สาวของเขาบอกว่า “มันเรียบง่ายเกินไปค่ะ ไวน์ก็เหมือนคนนั่นแหละค่ะ ครั้งแรกที่พบหน้ากัน แทนที่จะฉีกยิ้มเข้ามาหาและตีซี้เป็นเพื่อนกันทันทีเลย ต้องเริ่มด้วยท่าทางเป็นทางการก่อน พูดคุยกัน ก่อนที่จะค่อยๆ สนิทสนมกัน พอคุณเปิดขวดไวน์อเมริกัน มันก็ฉีกยิ้มเข้าใส่คุณเลยค่ะ” เป็นโชคดีของคนอเมรืกันที่พวกเขาไม่มีแผนที่จะแปล “The Drops of the Gods” เป็นฉบับภาษาอังกฤษ

สำหรับฝรั่งเศสซึ่งส่วนแบ่งในตลาดไวน์ของญี่ปุ่นลดฮวบฮาบลงมาหลายปี การ์ตูนเรื่องนี้เป็นเหมือนของขวัญจากพระเจ้าเลยทีเดียว

หนังสือฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสเล่มแรกตีพิมพ์ที่ฝรั่งเศสเมื่อเดือนเมษายน และขอบคุณที่ยอดขายงดงาม จนตีพิมพ์ออกมาถึงเล่มที่ 4 ภายในเวลาอันรวดเร็ว ยังไม่มีคำท้วงใดๆ ออกมาเมื่อคนฝรั่งเศสได้อ่านว่า 2001 Château Mont Perat มีรสชาติเหมือน เฟรดดี้ เมอคิวรี่


Thai Translation by Ladymoon

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.