23.11.09

ว่าด้วยเรื่อง "ทะนาน" ของไทย โดย พลอยโพยม.

ว่าด้วยเรื่อง "ทะนาน" ของไทย
โดย พลอยโพยม.

รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใส่ใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้
เป็นการละเล่นที่เราเคยเล่นกันมาแต่เด็กๆ






ดีใจจริงๆ ที่เห็น คุณ Kelly มา post เรื่องราว ให้อ่าน เป็นรายการอาหารเกาหลี โดยเฉพาะ เป็นอาหารในซีรี่ส์สุดฮิต ที่โด่งดังไปทั่วโลก เพลงรักในสายลมหนาว...

เลยขอแทรก เรื่องของข้าวสวย เพื่อ เอามากิน กับอาหารข้างต้น


ในละครเรื่องแดจังกึม มีการแข่งขัน การทำอาหารรอบสุดท้าย ตัดสิน ระหว่าง แช ซันกุง และฮัน ซันกุง เพื่อคัดเลือกตำแหน่ง ซันกุง สูงสุด และพระพันปี ให้โจทย์ ด้วยการให้หุงข้าว
ที่เกาหลี ก็ทานข้าวเจ้า โดยหุงเป็นข้าวสวย เหมือนบ้านเรา
แต่คนไทยโบราณ เมื่อสัก 40 กว่าปีก่อนโน้น น้อยบ้านที่จะนึ่งข้าวสวย ส่วนใหญ่ จะหุงข้าวกันมากกว่า


หุง แปลว่า ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งสุกด้วยวิธีต้มหรือเคี่ยว เป็นต้น ส่วนใหญ่จะหุงแบบเช็ดน้ำด้วย

วิธีหุงข้าว แบบเช็ดน้ำ คือ
ซาวข้าวสาร (ซึ่งทำให้สารอาหารจากเมล็ดข้าว ออกมากับน้ำด้วย ) ซึ่งก็มีความจำเป็น เนื่องจากข้าวสารในสมัยก่อน ต้องเอาข้าวเปลือกที่เก็บไว้ ส่งให้โรงสี สีข้าว ทีละกระสอบ (ซึ่งจะได้ ข้าวสารกลับคืนมา ประมาณ ครึ่งกระสอบ เพราะเป็นรำและเปลือกไปครึ่งกระสอบแล้ว) ข้าวสารที่เก็บไว้นาน ก็ จะมีสิ่งปลอมปน จึงต้องมีการซาวข้าว อย่างน้อย 2 ครั้ง

ในตำรายาโบราณบางขนาน ต้องใช้น้ำซาวข้าว เป็นกระสายยา ก็มี

ใส่น้ำในหม้อข้าว ในปริมาณที่มากเอาการ ต้มจนข้าวเดือด เมล็ดข้าวบาน ความสำคัญของการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ส่วนหนึ่ง ก็ อยู่ที่การใส่น้ำ หากข้าวเดือดแล้วใส่น้ำน้อยไป ข้าวก็จะไม่สุก หากมีการเติมน้ำ กว่าน้ำจะเดือด กว่าเมล็ดข้าวจะบานได้ที่ ข้าวหม้อนี้ คงต้องเอาไปให้ น้องหมาในบ้านกินแทน อาจจะแฉะฉ่ำไปเสียแล้ว การดูเมล็ดข้าวว่าบานแค่ไหนใช้ได้ ก็ต้องอาศัยประสบการณ์กันละ คนหุงข้าวดูว่าได้ที่ดี ก็

ยกหม้อข้าวลง ค่อยๆรินน้ำออกจน เมล็ดข้าวหล่นจากหม้อ 2-3 เมล็ด หรือ เกือบหล่น รีบปิดฝาหม้อ ใช้ไม้ขัดหม้อขัด ซึ่งต้อง มี ผ้า สอดระหว่างไม้ขัดหม้อและฝาหม้อ เพื่อให้แน่น แต่ก็ ไม่แน่นมากไป เพราะจะต้องเอียงหม้อข้าวกับอ่างที่รองน้ำข้าวที่รินออกเมื่อครู่นี้ เพื่อให้น้ำข้าว ไหลออกให้หมด การเอียงจึงต้องทิ้งน้ำหนักไปทางฝาหม้อข้าว จนน้ำข้าว หยุดไหล หยดสุดท้าย ก็ เอาหม้อข้าวขึ้นมาบนเตา ที่มีถ่านไฟกำลังเหมาะ ไม่อ่อนไป ไม่แรงไป เปิดฝาหม้อข้าว ใช้ทัพพี เกลี่ยข้าวหน้าหม้อข้าว และด้านข้าง ปิดฝาหม้อ ใช้ไม้ขัดหม้อขัดอย่างเดิม แล้ว ดงข้าว

ผ้าที่เราใช้ขัดระหว่างไม้ขัดหม้อและฝาหม้อข้าวนั้น ก็ไม่ต้องไปหยิบไปคว้ามาจากที่ไหน ใช้ผ้าสองผืนที่เราเอามาเป็นฉนวนกันความร้อน ในขณะที่จับหูหม้อข้าวและยกลงมาเทน้ำข้าวนั่นเอง ดังนั้นเราก็จะรู้และเคยชินแล้วว่า ใช้การได้ เหมาะเจาะพอดีกับความต้องการเพียงใด ผ้าสองชิ้นนี้ จึงอยู่ใกล้ในเวลาหุงข้าว และ ไม่เอาไปใช้ในการอื่นเสียก่อน หรือใช้แล้ว ก็ต้องอยู่เป็นที่เป็นทาง

ที่บ้าน จะมีกรอบไม้สี่เหลี่ยมวางบนอ่างรองน้ำข้าว เพื่อช่วยจัดระดับความเอียงของหม้อข้าว ไม่ต้องเก้ๆกัง ว่า เอาท่าไหน มุมไหน องศาไหน ดีหนอ

ดง คือการเอาหม้อข้าวที่เช็ดน้ำข้าวแล้ว ขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ ให้ระอุ

การดงข้าว เราจะวางหม้อข้าว เอียง เข้าหาเตา กะระยะ ว่าข้าวก้นหม้อ ถูกความร้อน สม่ำเสมอ ทั่วก้นหม้อข้าวจากการหมุน หม้อ เป็นระยะ ให้รอบหม้อ การวางเอียงและหมุนหม้อ กะว่า ข้าวข้างหม้อ และก้นหม้อ ถูกถ่านไฟในเตา สม่ำเสมอ ทั่วถึง ตอนนี้ ใครไม่มีฝีมือข้าวก็ไหม้ ก้นหม้อ ข้างหม้อ เป็นหย่อมๆหรือข้าวไม่ระอุทั้งหม้อ เพราะไฟอ่อนไป
การหุงข้าวสวย ที่จะดิบหรือแฉะ ขึ้นกับการดูเมล็ดข้าวก่อนยกลง เช็ดน้ำ
ข้าวไหม้หรืออมน้ำ ก็อยู่ที่ การดงข้าวและไฟที่ใช้ดงข้าว
ต้องฝีมือจริงๆ นะ ขอบอก


สำหรับคุณแม่ ที่เวลาหุงข้าวแล้ว มีลูกดื้อมากวนใจ ก็จะโดนไม้ขัดหม้อ ที่ทำด้วยไม้ไผ่ หวดเอาได้ (เพราะไม้ไผ่มันโค้งได้ไม่แข็งทื่อมะลื่อ) เพราะช่วงเช็ดน้ำข้าวมันฉุกละหุก คนที่ทำไม่ถนัด อาจทำข้าว หกลงไปขณะที่รินน้ำออกได้ ก็จะเกิดการหุงข้าวไม่พอกินขึ้นมาได้
น้ำข้าวที่ได้ ข้นมากเป็น สารอาหารทั้งนั้นเลยทีเดียว ก็ เป็นอาหารสำหรับน้องหมา ในบ้าน ส่วนคนในบ้าน ก็กินข้าวที่แทบเหลือแต่กากอาหารไง
ผู้เขียน หุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ได้ขึ้นชื่อของบ้านสำหรับเด็กวัยใกล้เคียง แต่เมื่อใช้หม้อ หุงข้าวไฟฟ้า จนอายุล่วงเลยมาบัดนี้ ต้องใช้คำว่า หุงไม่เป็น คือไม่แฉะก็ดิบ ทั้งที่วิธีง่ายแสนง่าย เป็นที่ขบขันของครอบครัว และได้รับยกเว้นไม่ต้องหุงข้าวในขั้น ห้ามหุงข้าวค่ะ
เรื่องหุงข้าว เป็น ออเดริฟ์สำหรับหัวข้อนี้ เท่านั้น เพราะขึ้นหัวเรื่องไว้แล้วว่าทะนาน

รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใส่ใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้

เด็กไทยส่วนใหญ่ รู้จักการละเล่นนี้ดี และร้องเพลงประกอบนี้ได้ แต่ก็ แทบไม่รูจักคำว่าทะนาน


ทะนาน คืออะไร พลอยโพยมคิดว่า คนรุ่นเดียวกันกับพลอยโพยม ก็ มีน้อยคนนักที่จะรู้จัก พลอยโพยมจะพาย้อนยุค ไปในยุคที่ยังไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าของคนบ้านนอก บ้านนอกแค่ฉะเชิงเทราแค่นี้แล้วกันนะคะ อย่าไปไกลนักเลย


ทะนานก็คือ เครื่องตวงอย่างหนึ่งทำด้วยกะโหลกมะพร้าว
20 ทะนาน ก็เป็น 1 ถัง
(นักเรียนสายวิทย์อย่างพลอยโพยม ก็ต้องอธิบายเพิ่มว่า เป็น ปริมาตรนะคะไม่ใช่น้ำหนัก)
มีคำว่าทะนานหลวง ถือเป็นมาตราตวงตามวิธีประเพณี มีอัตราเท่ากับ 1 ลิตร


*นอกจาก ถัง แล้ว ยังมีอีกคำคือ สัด ซึ่ง สัด ก็เป็นภาชนะสานที่ใช้ตวงข้าว ส่วนถังนั้นสมัยโบราณทำด้วยไม้ คงมีการใช้ ถัง กับ สัด ปน ๆ กัน แต่ถัง กับ สัด มีขนาดไม่เท่ากัน ไม่ควรใช้แทนกัน ดังมีคำกลอนจากนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ ตอนหนึ่ง ซึ่งนำคำ ถัง กับ สัด ไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ว่า


“ จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร”


มีข้อมูล พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 (รัชกาลที่ 5) มาตรา 13 ข้อ 2 วิธีประเพณีระบุว่า ทะนานหลวง เท่ากับ 1 ลิตร สัดหลวงเท่ากับ 20 ลิตร บั้นหลวงเท่ากับ 100ลิตร เกวียนหลวงเท่ากับ 2000 ลิตร (ไม่มีระบุเกี่ยวกับถังว่าเป็นเท่าไร)
หน่วยสำหรับการตวงก็มีมากพอสมควร ขึ้นอยู่กับความนิยม วัสดุรอบตัว ถัง กระบุง กะลา อวัยวะต่างๆ มือ แขน ซึ่งบางครั้งมีขนาดไม่แน่นอน อาจเกิดความไม่แน่ใจจนเกิดเป็นอุปสรรคในการวัดที่ดีพอสำหรับใช้งาน ควรเลือกใช้มาตราตวงที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือได้เพียงพอสำหรับการใช้งานนั้นๆ*
*(ข้อมูล จาก วิกิ พีเดีย)


และปัจจุบัน 1 ถังข้าวสารก็ คือข้าวสารหนัก 15 กิโลกรัม ดังนั้น ดังนั้น ข้าวสาร20 ทะนานก็คือ ข้าวสาร15 กิโลกรัม)
แต่ทะนาน ตามบ้านคนบ้านนอก แต่ละบ้าน ก็ไม่เท่ากันหรอกนะคะเนื่องจาก การทำทะนานใช้ แต่ละบ้านทำกันใช้เอง ไม่ ได้มีให้ซื้อหา ก็แล้วแต่ว่า บ้านใคร มีมะพร้าวแห้ง ขนาดเท่าใด

ที่บ้านเกิดของพลอยโพยม มีทะนาน ใหญ่ขึ้นลายและ ดำเป็นมัน เพราะน้ำมือคนที่สัมผัสใช้งานนั่นเอง ก็ต้องใช้ตวงข้าวสารหุงข้าววันละ 2 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง ( อย่างน้อยสุด ก็ ทะนานครึ่ง )

กะโหลกหรือกะลามะพร้าว โดยทั่วไปจะ มี 3 ตา ( อันที่จริง คือ สองตา และ 1 รู) ชาวบ้านมักเรียกรวมว่า 3 ตานั้นเอง แต่มะพร้าวที่ใช้ทำทะนานต้องพิเศษ มีตาเดียว จึงจะถูกคัดเลือกมาทำทะนาน เพราะพอเนื้อมะพร้าว แห้งหลุดออกจากกะโหลก หรือกะลา จะมี 1 ตา ที่ ทะลุ ซึ่งเป็นตาที่เกิดจาวมะพร้าว และงอกเป็นต้นมะพร้าวในอนาคต ส่วน อีก 2 ตา ที่ยังไม่ทะลุในวันนี้ พอใช้งานไป ก็จะทะลุ ไปเองเพราะสึกกร่อน( จริง ๆ คือ ทะนาน มีแต่รู แต่ไม่มีตามะพร้าวน่ะค่ะ มันลำบากที่จะเอานิ้วมืออุดทั้งสามรูนั่นเอง เวลา ตวงข้าว เราใช้ นิ้วกลางอุดเพียง รูเดียว )


นี่ก็คือ จาวมะพร้าว ถ้ามีขนาดประมาณ นี้ อร่อยมากเลย รับรอง เด็กๆในบ้าน แย่งกันจับจอง เป็นเจ้าของ ถ้าจาวเล็กกว่านี้ก็ยิ่งอร่อย
ถ้ายิ่งใหญ่ก็ยิ่งไม่อร่อย จะออกอาการ ฟ่ามและความหวานน้อยลง ยิ่งจาวมะพร้าวใหญ่ เนื้อ มะพร้าว ก็จะค่อยๆบางลงเหมือนถูกดูดสารอาหารไป และส่วนนี้ที่จะงอกเป็นมะพร้าวต้นใหม่ จาวมะพร้าวโตเต็มที่ก็เกือบคับกะลามะพร้าวเลย น้ำและเนื้อมะพร้าวแทบไม่เหลือ

กะโหลกมะพร้าวที่เหมาะ ทำทะนานจะต้อง เป็นลักษณะ ยาวรี มากกว่ากลม



ส่วนทะนาน ตามตัวอย่างนี้ในภาพ มีสามตา คือสองตา และ 1 รู




หากเป็นสมัยก่อน มะพร้าว 2 ผล นี้ แม้นรูปร่างดี หน้าตาสะสวย แต่จะไม่ได้รับคัดเลือก นำมาเป็น ทะนาน แน่นอน แต่จะหามะพร้าวที่สมบูรณ์แบบมาให้ดู ก็ หาไม่ได้ เปรียบเหมือนถึงยามยากก็เด็ดดอกหญ้ามาแซมผม ประมาณนั้นไปก่อน



ใช้เลื่อยปาดส่วน ก้นกะโหลกออก (หมายถึง ด้านที่อยู่ตรงข้ามกับกะโหลก ส่วนที่มีรู และตามะพร้าว นั่นเอง)
เลื่อยออก ประมาณ 1 ส่วน 3 หรือใกล้เคียง ให้ได้รูปทรง ดังภาพ


เมื่อก่อนนี้ ก็ จะวางมะพร้าวนี้เฉยๆ รอจนแห้ง เนื้อมะพร้าว จะค่อยๆ ร่อนออกมาจนหมด แต่ย่อมต้องใช้เวลานานทีเดียว
แต่คนเขียนใจร้อนเกินจะรอ ก็ ใช้ กระต่ายขูดมะพร้าว ขูดเอาเนื้อ มะพร้าวออกบ้าง ให้ เนื้อบางลง โดยต้องระวังที่จะไม่ขูดจนถึง กะลามะพร้าว แล้วก็เอากะโหลกที่ติดเนื้อ ไม่หนานักออกไปตากแดด แต่ เมื่อก่อน จะไม่เอาไปตากแดดนะคะ เพราะกลัวว่า กะโหลกจะถูกแดดเผาจนร้าวไปได้ เพราะมะพร้าวที่จะหามาทำทะนานได้ หาไม่ได้ง่ายๆ ยิ่งทะนานใหญ่ ๆ ก็ยิ่งหายาก

คนเขียนก็ พยายาม ที่ จะตากแดดที่ไม่แผดจ้าร้อนแรงเกินไป พอเนื้อมะพร้าว ค่อยเผยอ ออกจากกะโหลก คนเขียน ก็ใช้ความพยายาม หาอุปกรณ์ มาค่อยๆ แซะ เนื้อมะพร้าวออกจากกะโหลกในลักษณะ ที่ค่อยๆ ร่อน วันละนิด ต้องทำอย่างระมัดระวัง ที่จะไม่ให้ ผิวกะโหลกข้างใน เป็นรอยแงะ ต้องใจเย็นมากๆ ราวกับกำลัง ประดิษฐ์ กลีบดอกไม้ประดิษฐ์ทีเดียวเลยขอบอก
ทะนาน ที่ได้มาตามภาพนี้ ก็ใช้เวลา 14 วัน



เมื่อลองตวงข้าวสาร เต็ม 1 ทะนาน นำไป ชั่ง ก็ ทึ่งมาก ที่เท่ากับข้าวสาร หนัก 1 กิโลกรัม
เมื่อลองใส่ น้ำเปล่า ดู ก็ 1 ลิตร กว่าๆ ( น้ำ 1 ลิตร ไม่เต็มทะนาน แต่ก็ ไม่ได้ เช็คว่า 1 ลิตร กับอีก กี่ ซีซี นะคะ)

และเด็กวิศวะ เคยบอกคนเขียนว่า ถ้าเป็นน้ำละก้อ น้ำปริมาตร1 ลิตร ก็ คือ น้ำที่มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งคนเขียนก็เป็นนักเรียนวิทย์ แต่จำ นัย ของ ปริมาตร และน้ำหนัก ของน้ำ ไม่ได้ ยังไงเสีย คนบอกเล่า ก็ เป็น เด็ก วิศวะ ทั้ง ป.ตรี และ ป.โท คงไม่ผิดพลาดน่ะค่ะ

ทะนาน ในสมัยที่คนเขียนยังเด็กๆ ใหญ่ กว่า ในภาพมากเลย ดำเป็นมันสวย

เปลือกนอกของทะนาน ที่มองดูขึ้นลาย และค่อนข้าง เรียบ ก็ ใช้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพราะในสมัยก่อน เราไม่มี เครื่องมือ เจียร เหมือนสมัยนี้ คนโบราณ ใช้ เศษแก้ว จากขวดหรือแก้ว มา ค่อยๆ ถู เรียกว่าเอามาขัดนั่นเอง การขัด ก็ต้องถูขัดไปทางเดียวกัน ไม่อย่างนั้น ลายกะลา ก็จะไม่สวย หรือถ้าขัดแรงไปอาจเกิดรอยขวางไปมา ด้วย

ทะนานใบนี้ ก็เลยทำให้ ต้องทุบแก้ว ไป 1 ใบ เพื่อนำมาใช้ในการนี้ แต่เนื่องจาก ไม่ได้มีเวลามากมาย ก็ เลยใช้เวลา ถู ๆ ขัดๆ ไปไม่ถึง ชั่วโมงเอง แต่ก็คงพอมองเห็นลายของกะโหลกมะพร้าว และรอยมันจากมือของคนเขียนติดที่ทะนาน นะคะ แล้วก็เวลาว่าง ก็เอามาลูบๆ คลำๆ เสียหน่อย




ทะนาน นี้ จะใช้ตวงของอย่างอื่นได้ทั้งนั้นแล้วแต่ผู้ใช้ จะนำไปใช้ ทั้งข้าวเปลือก และอื่นๆ

ในชาดก ที่เล่าเรื่องราวในพุทธกาล ก็ใช้ คำว่าทะนาน เป็นการตวง เช่น

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรง เสวยข้าวสุกหนึ่งทะนาน
และ
ในกรุงราชคฤห์ มีช่างจัดดอกไม้คนหนึ่ง ชื่อ "สุมนะ" ทุกๆ เช้า เขาจะนำดอกมะลิ ๘ ทะนาน ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร และจะได้ทรัพย์มาเป็นค่าดอกไม้วันละ ๘ กหาปณะเป็นประจำ
รวมถึง การบอกกล่าว ถึง การ แบ่งสรร พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า ก็ เรียกขาน มาตรการตวงวัด ว่า ทะนาน
ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าในภาษา บาลี ต้นฉบับ ใช้คำเรียก มาตรา ตวงวัด ของการแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุ นี้ว่าอะไร
แต่ เมื่อ กล่าวอ้างในภาษาไทย ก็ ใช้คำว่า ทะนาน นี้

นอกจากนี้ เคยอ่านเจอมาว่า
ในประเทศจีน มี ประเพณี ธรรมเนียม พิธี ต้าวเต็ง อันเป็น พิธี งานมงคลขอพระจากเทพเจ้า ในงานการเฉลิมฉลองสมโภช ศาลเจ้า หรือขอพรศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมี เครื่องมงคล คือ ทะนานประทีป ( ต้าวเต็ง) เสมอขาดมิได้ ( คนเขียนคิดว่า คง มีของมงคลอื่นๆใน พิธี อีกนะคะ)
ในทะนานประทีป จะประกอบด้วยสิ่งของต่างๆ ที่เป็นศิริมงคล 11 อย่าง ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
มี บี้ต้าว หรือทะนาน สัดตวงของจีน มีทั้งแบบเหลี่ยมและแบบกลม เฉพาะ พิธี นี้ ใช้แบบกลม
มี ตะเกียง มีข้าวสาร และอื่นๆ รวมแล้ว 11 อย่าง
( บทความของ บุนเต้หลาง )

จากข้อมูลนี้ ทะนาน ที่ใช้สื่อข้อความ ก็คือ การใช้เรียกวัสดุ ที่ใช้ ใส่หรือตวง ของการเล่าเรื่องธรรมเนียมนี้ในเมืองจีนโบราณ เมื่อ เล่าว่า มีทั้งแบบกลม และแบบเหลี่ยม ทะนาน ในเรื่องเล่านี้ ก็ คงไม่ใช่ ทะนาน อย่างในเมืองไทย แบบกลม ก็ อาจ ทำจากกะโหลก มะพร้าวได้ แต่ แบบเหลี่ยม คงเป็นวัสดุอื่น


นอกจากนี้ ยังอ่านพบ
พิธีสะเดาะเคราะห์และเสริมบุญบารมี(จั้งแช-ไป๊เต้า) จาก
www.watpoyen.com/pitee3.htm

ที่มีการเอ่ยถึง
ความเชื่อในพิธี บูชาดวงดาว กล่าวถึงความเชื่อของคนจีน ที่เกี่ยวกันกับศาสนาพุทธ ฝ่ายมนตรยาน ที่มีพิธีบูชาดาวพระเคราะห์และดาวฤกษ์
รวมทั้งชาวธิเบตด้วย

มีข้อความที่กล่าวถึงเครื่องมงคล ทะนานประทีป หรือ เต้าเต็ง
ก็ขออนุญาต คัดลอกข้อความมาดังนี้

ในการประกอบ พิธีบูชาดาวสัปตรรษิ หรือ ดาวปั๊กเต้า ในสมัยโบราณมักนิยมบูชาด้วยประทีปโคมไฟ ประกอบเสมอมา ในมณฑลพิธีจะต้องจัดตั้งโคมประทีป ๙ ดวงหรือตะเกียง ๙ ดวง เป็นสัญลักษณ์ของดวงดาว และมีเครื่องมงคล ทะนานประทีป หรือ เต้าเต็ง เสมอขาดไม่ได้


ทะนานประทีป หรือ เต้าเต็ง เป็นเครื่องมงคล ประกอบพิธีบูชาชนิดหนึ่งของจีน สิ่งของที่นำมาจัดลงในทะนานสื่อความหมายเป็นสัญลักษณ์สิริมงคล จะประกอบด้วยสิ่งของต่าง ๆ ดังนี้

๑. ทะนานข้าว มีทั้งแบบเหลี่ยมและกลม เฉพาะในการนี้ใช้ แบบกลม หมายถึง จักรภพ หรือ สวรรค์
๒. ตะเกียง ความโชติช่วงของดวงไฟจากตะเกียง เป็นสัญลักษณ์แทนแสงสว่างของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และ ดวงดาว
๓. ข้าวสาร เป็นสัญลักษณ์แทนดวงดาวทั้งหลายในจักรวาล ธัญญาหารทั้ง ๕ บริบูรณ์
๔. ไม้บรรทัด เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุไม้ ทั้ง ๔ ฤดูไม่มีภัยพิบัติ เทศกาลทั้ง ๘ ล้วนสุขสันต์
๕. คันชั่ง เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุทอง เพราะตาชั่งมีโลหะเป็นส่วนประกอบ หมายถึง ความเที่ยงตรง คำว่า ตราชั่ง ในภาษาจีนออกเสียงตรงกับคำว่า เพ้ง แปลว่า สงบสุข จึงหมายถึง ใต้หล้าสงบสุข
๖. กรรไกร เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุไฟ เพราะกรรไกรเหมือนปากนก ไว้ตัดสิ่งอัปมงคล และยังหมายถึง ครอบครัว
๗. กระจกเงา เป็นสัญลักษณ์แทนธาตุน้ำ เพราะกระจกมีสัณฐานคล้ายกระดองเต่า แสงสะท้อนของกระจกเงา หมายความว่า ส่องสว่างขับไล่สิ่งชั่วร้าย ความกลมของกระจก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ พร้อมหน้า
๘. ลูกคิด หมายถึง ความเที่ยงตรง เพราะลูกคิดจะให้ผลลัพธ์เท่ากันเสมอ อีกทั้งยังหมายถึง กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง
๙. พู่กัน หมายถึง สัญลักษณ์ของการเรียน อวยพรให้การศึกษาเล่าเรียนก้าวหน้า
๑๐.กระบี่ หมายถึง สัญลักษณ์ของอาวุธปราบมารร้าย
๑๑.สัปทน หรือ ร่ม หมายถึง สัญลักษณ์ของบารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษา


โดยทั่วไปมักจะตกแต่งทะนานให้สวยงาม ในประเทศไทยนิยมทำหลังคาเป็นรูปวิมานหรือเก๋งจีนด้วยกระดาษ ข้างหน้าเก๋งยังทำรูปเทพธิดาด้วยกระดาษประดับไว้ด้วย

ส่วนสิ่งของที่นำมาบรรจุลงในทะนานนั้นต้องบรรจุลงในตำแหน่งต่างๆ
- ข้าวสาร บรรจุลงภายในให้เป็นฐานสำหรับวางสิ่งของต่าง ๆ
- ตะเกียง เติมน้ำมันจุดไฟตลอดเวลาไม่ให้ดับ
- ไม้บรรทัด วางอยู่ทางทิศตะวันออก คือ ทางขวา
- คันชั่ง วางอยู่ทางทิศตะวันตก คือ ทางซ้าย
- กรรไกร เสียบโดยเอาด้ามขึ้นทางทิศใต้ คือ ทางด้านหน้า
- กระจกเงา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ คือ ด้านหลัง
- กระบี่ และ ร่ม จะปักไว้ด้านข้าง
- ลูกคิด และ พู่กัน ก็จะวางอยู่ภายในการจัดวางสิ่งของอาจมีแตกต่างกันบ้างตามความนิยมของท้องถิ่นต่าง ๆ


อย่างนี้แล้ว พิธี ต้าวเต็ง หรือเต้าเต็ง ยังจะใช้ในพิธีกรรม อื่นๆ อีกหรือเปล่าหนอ
ของ 11 อย่างและความหมายของบทความของวัดโพธิ์เย็น ก็เหมือนกับบทความ ของ บุนเต้หลาง

และไปพบ ว่ามีขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่า เนียล จาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=290634: http://www.guide33.com/forum/forum_post%20...%20=103&PN=10

ที่บอกเล่าว่า
ขนม เนียล ถือเป็นขนมหวานที่ชาวบ้านแต่ก่อนมักทำให้ลูกหลานกินเล่นและแบ่งปันญาติพี่ น้องบ้านใกล้เรือนเคียง เนื่องจากส่วนผสมสามารถหาได้ง่ายทั่วไปในละแวกบ้าน อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีประจำทุกครัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เตาถ่าน หม้อนึ่ง และกะลามะพร้าวผ่าครึ่งหรือที่เรียกกันว่า “เนียล”

“เนียล” เป็นคำเขมรแปลเป็นไทยได้ว่า “ทะนาน” เป็น อุปกรณ์ใช้สำหรับตวงข้าวสาร

รสชาดของขนมเนียลจะออก หวานหอมเพราะใช้น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอ้อย รสชาดจะมัน ๆ จากมะพร้าว และเนื้อเหนียวเคี้ยวมัน
สนใจขนมเนียล ลองตามไปอ่านกันดูนะคะ
ขออนุญาต และขอบคุณ แหล่งข้อมูล ที่พลอยโพยม นำมาเผยแพร่ในบทความนี้






Ploypayoom@Copyright

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.