18.10.09

[Degress] Thai Tradition Wedding by Ploypayoom /งานแต่งงานตามประเพณีไทยแบบดั้งเดิม โดย พลอยโพยม




Thai Tradition Wedding by Ploypayoom

งานแต่งงานตามประเพณีไทยแบบดั้งเดิม โดย พลอยโพยม

วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศ สื่อ ประเพณี ของ ประเทศไทย บ้างนะคะ เมื่อวันเสาร์ นี้ เผอิญ ดิฉัน ต้องทำหน้าที่ เป็น นายขันหมาก ในประเพณี แต่งงาน ให้บุตรสาว เพื่อนรุ่นน้อง และจำได้ว่า เมื่อปี 1999 เคย ทำพิธีนี้มาครั้งหนึ่ง และมีภาพถ่ายประกอบ เลยต้องขอนำภาพ เมื่อ ปี 1999 มาอธิบายประกอบ เพราะในปีนั้น คู่บ่าวสาว เป็นเพื่อนร่วมงาน ที่ เป็นน้องรัก ดิฉันเลยต้องไปร่ำเรียน พิธีการจัดขันหมาก และเป็นนายขันหมากมา เพื่อการนี้โดยเฉพาะรวมทั้งระดม น้องๆในที่ทำงานและคนในครอบครัวมาช่วยกันจัดขันหมาก ยกเว้น พานแหวนหมั้นและพานสินสอดนะคะ ที่ต้องใช้ ฝีมือชาววังที่ท้ายวัง (ที่สนามหลวง ) เป็นคนจัดทำ


พิธีการ ที่จะกล่าวถึงนี้ ขอข้ามขั้นตอน ของ ฤกษ์ยาม คติความเชื่อ ของขนมในขบวนขันหมาก ขนมเสี่ยงทาย ผลไม้และกับข้าวในวันทำพิธีแต่งงานนะคะ เพราะ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย และก็มีที่หาอ่านได้มากมายเช่นกัน
ปัจจุบัน เพื่อเป็นการย่นย่อพิธีการ มักจะนิยมมีพิธีหมั้น ในวันเดียวกับวันแต่งงานโดยประกอบพิธีต่อเนื่องกันเลย

พิธีการ เริ่มจาก ในตอนเช้ามืด เจ้าบ่าว ต้องมาประกอบพิธีที่บ้านเจ้าสาว คือการกราบไหว้สักการะศาลพระภูมิเจ้าที่พร้อมกับเจ้าสาว

ต่อด้วยพิธี ทำบุญตักบาตรเช้า

ประเพณี ทำบุญตักบาตรเช้าก็มีนัยสำคัญ คือ คู่บ่าวสาวได้ร่วมกันตักบาตรร่วมขัน ต่อด้วยพิธีสงฆ์ ที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญเป็นศิริมงคล ผลบุญกุศลที่ร่วมประกอบด้วยกัน ในการเริ่มต้นชีวิตคู่ ในการนี้เราจะนิยมให้พระสงฆ์องค์ประธานที่รับนิมนตร์มา เป็นองค์ที่ประกอบ น้ำมนตร์ ที่เราจะใช้เป็นน้ำสังข์ ในการหลั่งน้ำพระพุทธมนตร์ รวมทั้งเป็นผู้ประกอบสายมงคลแฝดที่จะใช้สวมศีรษะ คู่บ่าวสาว บางงานก็นิยมให้ พระสงฆ์เป็นองค์เจิมหน้าผากคู่บ่าวสาว ไว้ตั้งแต่ตอนทำบุญเลี้ยงพระเช้าเลยทีเดียว แต่ บางท่านก็อาจจะเชิญญาติผู้ใหญ่ หรือผู้มีเกียรติที่นับถือเป็นคนเจิมหน้าผากคู่บ่าวสาวในช่วงที่ขึ้นนั่งบนตั่งก่อนรดน้ำสังข์ก็ได้ การสวมมงคลแฝดให้บ่าวสาว ต้องเลือกเชิญ ญาติผู้ใหญ่ที่มีชีวิตสมรสที่ราบรื่นเป็นสุข มีทายาทที่ว่านอนสอนง่ายเป็นเด็กดี

หลังจาก เสร็จสิ้นพิธีทำบูญตักบาตรเช้าแล้ว เจ้าบ่าวจะต้องออกจากบ้านเจ้าสาว เพื่อไปร่วม ขบวนขันหมากที่จะต้องจัดมาบ้านเจ้าสาว
ปัจจุบัน เรามีการประยุกต์ รูปแบบ การแห่ขบวนขันหมาก คือ คณะฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมอุปกรณ์ต่างๆเครื่องของขันหมากมาจัดตรียมใกล้ๆ บ้านเจ้าสาวนั่นเอง
การจัดขบวนขันหมาก อันเป็นขบวนที่เจ้าบ่าวต้องแห่ไปบ้านเจ้าสาว โดยหลักแล้ว ก็จะมีความคล้ายคลึงกัน อาจแตกต่างที่รายละเอียดบ้างเล็กน้อย คงต้องขอใช้ ตำว่า บางใคร บางมัน หมายถึง ถิ่นใคร ถิ่นมัน ทำนองนั้น หากไปพบเห็นในบางงาน ที่จัดไม่เหมือนกัน ก็ขอให้นึกถึงคำนี้ไว้นะคะ อย่าไปตำหนิติเตียนว่าไม่ถูกต้อง การจัดขบวนขันหมากแต่ละถิ่นก็ยึดถือหลักของความมงคลสวัสดี สำหรับคู่บ่าวสาวเป็นที่ตั้ง และมีการเสริมในส่วนที่คิดว่าดีงามเป็นมงคลเพิ่มเข้าไป แต่ที่สำคัญ ก็คือ สินสอด ขันหมากเอก ขันหมากโท บริวารขันหมากอื่นๆ ก็จะเน้นเฉพาะ ที่สำคัญ

สินสอด ก็คือ แก้วแหวนเงินทอง ที่ได้มีการตกลงกันไว้ตั้งแต่เมื่อตอนที่มีการสู่ขอ เราเรียกว่า ขันสินสอด มีบางงานที่จะแยก แหวนหมั้น แยกออกจากสินสอด อื่นๆ

ในขันสินสอด นอกจากเงิน ทอง อัญมณี อื่นๆแล้วต้องมี ถั่วเขียว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ใบเงิน ใบทอง ใบรัก และ บางที ก็มีดอกไม้มงคล เช่น ดอกรัก บานไม่รู้โรย เด็ด กลีบ ปน ลงไป จะอยู่ ในห่อกระดาษแดง หรือ ถุงผ้าสีแดงก็ได้ เพื่อใช้ในการ โรยถั่วโรยงา เป็นการอวยพร หลังการตรวจนับสินสอด ของฝ่ายเจ้าสาว

ขันหมากเอก จะเป็นขันเดียวหรือขันคู่ ก็ขึ้นกับประเพณีท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่ นิยมเป็น ขันคู่ ขันหมากเอก ภายใน ก็ จะบรรจุ หมาก (ที่ต้องตัดก้นหมากป้ายปูนแดง) ใบพลู จัดเป็นเรียง เช่น ใบพลู 4 ใบ 5 เรียง สำหรับขันหมากเอกใบที่1 ใบเงิน ใบทอง ใบรัก ขันหมากเอกใบที่2 จะแตกต่างที่ จำนวนใบพลู คือ 3 ใบ 4 เรียง เป็นต้น จำนวน ของหมากกี่ผล ใบพลู กี่ใบ กี่เรียง และ ใบอื่นๆ จำนวน กี่ใบ ก็ขึ้น กับความเชื่อของ ครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดกันมาเป็นทอดๆ

ขันหมากโท จะมีเพียง ขนมจีน และห่อหมก ส่วนที่ดิฉันถ่ายทอดมา ก็ คือจำนวนรวม ขนมจีน 7 จับ ห่อหมก 7 ห่อ เมื่อนำลงขัน ขันใบที่1 เป็นขนมจีน 4 จับ ห่อหมก 4 ห่อ ขันหมาโทใบที่ 2 ขนมจีน 3 จับ ห่อหมก 3 ห่อ
ขัน ทั้ง 5 ใบนี้ ต้องมี เตียบ คลุมไว้อีกชั้น ก็นิยม ทำเป็นกรวยครอบ แล้ว หุ้มด้วยผ้าที่มองดูสวยงาม
ขันหมากเอก และขันหมากโท ต้องให้ หญิง 4 คน เป็นคน ถือ ถ้าเป็นโสด ต้องโสด ทั้ง 4 คน หากแต่งงานแล้ว ก็ต้อง แต่งงานแล้ว ทั้ง 4คน เป็นหญิงที่แต่งงานแล้วราบรื่น ในชีวิตสมรส ห้ามเป็นสาวแก่ แม่หม้าย
หญิง ถือขันหมากทั้ง 4 คนนี้ เป็นตัวแทนของ นางสุธรรมมา นางสุนันทา นางสุจิตรา นางสุชาดา เอกอัครมเหสี ของพระอินทรา ผู้ถือว่า เป็นใหญ่ ในขบวนขันหมากนี้

ส่วนขันสินสอด และ พานหมั้นนิยมใช้เด็กหญิงแต่งตัวสวยงาม เป็นคนถือโดยมี เฒ่าแก่ขันหมากและเจ้าบ่าวอยู่ข้างขันสินสอด ( เพื่อความปลอดภัยด้วย บางทีก็เป็น แม่เจ้าบ่าวเอง)

ในขบวนขันหมาก เดินเรียงแถวดังนี้
1.อ้อย 5 ลำ แยกเป็น 3 ลำและ 2 ลำ คาดผ้าแดงที่ล้ำอ้อย ที่ขุดมาทั้งต้น ใบราก 3 ท่อน อ้อย 2 มัดนี้ โยงด้วยผ้าแดง สี่เหลี่ยม ผูกเชือกที่มุม บน 2 มุม ถือด้วย ชาย 2 คน นำหัวขบวนขันหมาก
2. ต้นกล้วย 2 ต้น ทั้งใบ และราก บางที่ ก็ ใช้ต้นใหญ่ ที่กำลังมีเครือกล้วย คาด กระดาษแดง เหมือนอ้อย แต่บางที่ก็ไม่ใช้ ต้นกล้วย แต่ใช้ กล้วยดิบเป็นหวีๆ เท่านั้น
3.พานหมั้น ( บางที่ อยู่ในขันสินสอด)
4 ขันสินสอด
5.ขันหมากเอก คู่แรก
6.ขันหมากโท คู่ที่สอง
7. เหล้า สองขวด คนถือเป็น ชาย 1 คนถือสองมือ
8.หมูดิบ 2 ถาด 1 คนถือ จึงนิยมเป็นผู้ชาย ถือ
9.วุ้นเส้น 2 ถาด ถาดละ 2 กำ ใช้ 1 คนถือ
10.กล้วย 2 ถาด จำนวน รวม 5-7-9 หวี
11.มะพร้าวอ่อน 2 ถาด จำนวนรวม 5-7-9 ผล
12 ผ้าไหว้ ผี 1 ชิ้น 1 ถาด คาดกระดาษ แดง 2 เส้น
13.ผ้าไหว้ผู้ใหญ่ 1 คู่ คาด กระดาษแดง 2 เส้น
14.ขนมปี๊ยะ ทั้งกล่องใหญ่ กล่องเล็ก ทั้งก้อนใหญ่ ก้อนเล็ก จำนวน เป็นคู่ และ จำนวน ตามความตั้งใจ ที่บ่าวสาวจะนำขนมนี้ ไปไหว้ ญาติผู้ใหญ่ หลังเสร็จพิธี แต่งงาน
15. ขนมจันอับต่างๆ ข้าวพอง ถั่วตัด ถั่วเคลือบ งาตัด ขนมโก๋อ่อน ขนม กง เป็น อย่างละ 2 ถาด

ของในถาด ต้องรองด้วยกระดาษแดง และทุกอย่าง ต้อง ปักธงแดง

ขันในขบวนขันหมาก ยกถือแล้วเข้าขบวนแล้ว ห้ามวาง จนกว่าจะถึงบ้านเจ้าสาว
บางที่ จะเพิ่ม พานธูปเทียนแพ สำหรับ ใช้ ไหว้ญาติผู้ใหญ่ อยู่ในขบวนด้วย บางที่ เป็นพานที่ฝ่ายเจ้าสาว เตรียม เอง



มาดูรูปประกอบ


พาน แหวนหมั้น


ขันสินสอด


เมื่อถอดกรวย ใบตองออก ภายใน เป็นอย่างนี้


ขันหมากเอก และโท ทั้ง 4 ใบ


ขันหมากเอก

ขันหมากโท


พานธูปเทียนแพ ใช้ในการ ไหว้ญาติผู้ใหญ่

พานเชิญขันหมาก ของฝ่ายเจ้าสาว




พานเชิญขันหมาก ที่ฝ่ายเจ้าสาว มักให้เด็กหญิงถือมาเชิญขบวนขันหมากเข้าบ้าน ภายใน บรรจุ พลูจีบ 5 จีบ หมากเจียน 5 เจียน ยาเส้น บุหรี่

พานเชิญขันหมากนี้ ต้องมีผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว เดินกางร่มออกไปกับเด็กหญิงที่ถือพานเชิญขันหมาก




เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว กล่าวเชิญ ขบวนขันหมากเข้าบ้าน และเฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว รับหมากพลู เสร็จเรียบร้อยแล้ว มักจะมีซองแดง(ใส่เงิน) มอบให้เด็กหญิงคนเชิญพานด้วย หลังจากนั้นคนที่ถืออ้อยและกล้วย ในขบวนขันหมากต้องนำต้นอ้อยต้นกล้วย ไปวางหน้าประตูบ้าน เจ้าสาว ภายหลังเสร็จสิ้นงานแล้ว คู่บ่าวสาว ต้องนำอ้อยและกล้วยนี้ไปปลูกด้วย

ฝ่ายเจ้าสาว ต้องเตรียมคู่สมรสที่มีชีวิตสมรสที่ราบรื่น 1 คู่ มีผ้าคลุมไหล่ด้วยเดินมารับขันหมากเอก เข้าไปวางในบริเวณที่จะทำพิธีต่อไป แล้วย้อนออกมารับขันหมากโทเข้าไปวางเรียงต่อแถวขันหมากเอก หลังจากนั้น ญาติฝ่ายฝ่ายเจ้าบ่าวที่ช่วยกันถือขบวนขันหมากโท อื่นๆ ค่อยๆนำของที่ตนเองถือมาเข้าไปวางต่อจากขันหมากเอกโท 4 ขัน จนหมดโดยแยกวางเรียง เป็น 2 แถว

จากนี้เป็นหน้าที่นายขันหมาก เอาน้ำมนตร์ ประพรม ของในขบวนขันหมาก พร้อมกล่าวอวยพร แต่สิ่งที่ดีงาม

นายขันหมาก จะหยิบของจากทั้ง2 แถว เป็นถาดรวม เหมือนกัน 2 ถาด
เพื่อเตรียม สำหรับ ไหว้เทวดา 1 ชุด ไหว้ผี 1 ชุด
แล้วจึงเลื่อนถาดต่างๆ ออกจากบริเวณ ที่จะทำพิธีเซ่นไหว้ผี สำหรับหมูสด ตัดออกมาบางส่วน
แบ่งของในขบวนขันหมาก ให้ ฝ่ายเจ้าสาว 1 แถว เจ้าบ่าว 1 แถว ถาดที่ใส่ของขันหมาก ห้าม นำมาซ้อนกัน
ของเซ่นไหว้ เทวดา และผี คือ ขันหมากเอก -โท ถาดสำรับคาว เหล้า ขนมจันอับ มะพร้าวเปิดปาก ผ้าขาวไหว้ผี

สำหรับถาดที่เซ่นไหว้เทวดา ต้องนำออกไปไหว้กลางแจ้งนอกบ้าน ส่วนถาดไหว้ผีอยู่ในบริเวณที่จะทำพิธีต่อไป

แล้วแก้ขันหมากทุกขัน

นายขันหมาก ว่า ขันหมาก บอกเล่าที่มาของการยกขันหมากอันเป็นมูลคดีมาแต่โบราณ

ศรีศรี สิทธิเตโชชัย ข้าพเจ้าจะขออภัยแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชายทุกถ้วนหน้า ที่ได้ไหว้วานกันมาเป็นมิ่งมงคล อันความตอนต้นฤาเจ้าข้า........
.......ทุนสินสอดเสร็จพร้อมกันเป็นสำคัญมาในวันนี้ นางทั้งสี่นั้นชื่อ นางสุธรรมมา นางสุนันทา นางสุจิตรา นางสุชาดา ทั้งสี่นี้เป็นเอกอัครมเหสีของพระอินทรา ที่เป็นใหญ่ในขันหมากมานั้น......
.......มีในคัมภีร์ปฐมสมโพธิโปรดกล่าวในวิวาหมงคลปริวัติ จัดตามปริเฉทสัมปยุต ขอท่านสัปปุรุษพึงเข้าใจเถิด มีมาแต่กำเนิดตั้งแต่ครั้งพระเจ้ากรุงสิริสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา สองกษัตราภิเษกกันในครั้งนั้น พระพิษณุกรรมก็ชวนกันลงมา ทั้งเทพยบุตร เทพยดาก็ลงมาช่วยกันทำปราสาทหอ ทั้งร้อยเอ็ดเมืองก็มิได้ย่อท้อช่วยขันหมาก.........
เชิญ พ่อแม่ บ่าวสาว มาตรวจนับสินสอด วางสินสอดคลี่ใส่พานเรียงวางลง บนใบเงินใบทองรัก ซึ่งมีผ้ารอง นำถั่วงา ข้าวเปลือกข้าวตอกดอกไม้ที่อยู่ในขันหมากเอกออกใส่พานเล็ก ให้พ่อแม่บ่าวสาวโรยลงบนสินสอด เชิญญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย มาโรยถั่วงา ขณะที่โรยถั่วงาดอกไม้นี้ ผู้โรยต้องกล่าวคำอวยพรคู่บ่าวสาว และถือว่าบรรดาญาติผู้ใหญ่เหล่านี้ได้เป็นสักขีพยานรับรู้ ในสินสอดที่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำมา ครบทุกคนแล้ว รวบห่อผ้าสินสอด ไว้รอมอบให้พ่อแม่เจ้าสาวต่อไป




เชิญ เจ้าบ่าว มานั่งในบริเวณพิธี
เชิญเจ้าสาวออกมา จูงมานั่งข้างเจ้าบ่าว บ่าวสาว กราบ พ่อแม่ ทั้งสองฝ่าย เจ้าสาวกราบ เจ้าบ่าว

นายขันหมาก กล่าวชุมนุม อัญเชิญเทวดา

ทำพิธี หมั้น สามแหวนหมั้น เจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวอีกครั้ง

คู่บ่าวสาว ทำพิธี เซ่นไหว้ ผี จุดธูปเทียน ดอกไม้
นายขันหมากจุดธูป ปัก ของเซ่นไหว้ และรับธูป จากคู่บ่าวสาว มาปัก

ทำพิธี เซ่นไหว้ผี
ตัวอย่าง คำเซ่นไหว้
ศรีศรี วันนี้ เป็นวันดี เป็นราศีศุภมงคล สวัสดีมีชัย ขออำนวยพร ยอกรขึ้นไหว้ ท่านพ่อท่านแม่ ท่านเฒ่าแก่ผู้ใหญ่ ญาติกาฝูงผี มีอยู่หนไหน ผีเรือนผีพ่อ ผีหอปลูกใหม่ ขอเชิญมาให้พร้อมกันในวันนี้ วันนี้ เป็นวันดี ท่านเศรษฐีผู้ใหญ่
ท่านจะเอาเงินเข้ามากอง ท่านจะเอาทองเข้ามาเกย จะเอาเขยเข้ามาฝาก เอาขันหมากเข้ามาให้....
บทเซ่นผี ยาวมาก เชิญผีทั้งหลาย ผีภูตผีพราย แม่ซื้อรักษา ผีปู่ผีย่า ผียายผีตา..........สารพัดผีเลยนะคะ

ให้ศีลให้พร อีกยาว ตามมาด้วย คำสั่งสอน คู่สามีภรรยา การเป็นภรรยาที่ดี เป็นสามีที่ดี อีกยืดยาว เช่น...ผัวพูดแต่หวาน เมียขานแต่เพราะ...

เตือนเรื่องแม่ผัว ลูกสะใภ้...

จบด้วย เตชะพระพรขอให้ได้กับเจ้าทั้งสอง ให้ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชรเอย...
ยกผ้าขาวไหว้ผี
เป็นการเสร็จสิ้นพิธีเซ่นไหว้ผี
คู่บ่าวสาว ส่งมอบ สินสอดทั้งหมดให้กับ พ่อแม่เจ้าสาว
แม่เจ้าสาวแบกสินสอดนำไปเก็บให้ปลอดภัย

ต่อด้วยพิธี รับไหว้ญาติผู้ใหญ่ และพิธี รดน้ำสังข์ แล้วแต่จะทำอย่างไหนก่อนตามสะดวกของเจ้าภาพ

การหลั่งน้ำพุทธมนตร์โดยใช้น้ำมนตร์ในตอนเช้า เป็นน้ำสังข์โดยต้องมี ใบเงิน ใบทอง ใบรัก ใบมะตูม ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ บานไม่รูโรยดอกบัวหลวง
หากในตอนเช้า ไม่ได้เจิมหน้าผากไว้ ต้องเชิญ ผู้ใหญ่ มา เจิมหน้าผาก คล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝด ท่านที่สวมมงคลแฝด เป็น ผู้ รดน้ำสังข์ คนแรก
ผู้ ที่จะรดน้ำสังข์ ต้องมีอาวุโส กว่า คู่บ่าวสาว

เมื่อหมดคนสุดท้าย ต้องเชิญ ผู้ใหญ่ มาถอดมงคลแฝด และพยุง คู่บ่าวสาว ลุกขึ้นยืน มอบมงคลแฝดที่ถอดออก ให้เจ้าสาวเก็บไว้ มงคลแฝดนี้ เจ้าสาว ที่จะได้เป็นคุณแม่ในวันข้างหน้า จะนำมงคลแฝดนี้ มาคอยเรียกขวัญ ลูก ที่ ร้องไห้ กวนโยเย งอแง ในวันข้างหน้า

จะมีเคล็ด เล็กน้อย ของ คู่บ่าวสาว ในการถือทัพพีตักบาตร และการลุกขึ้นจากตั่ง แต่โดยความเห็นส่วนตัว การแย่งชิง ความเป็นใหญ่ในครอบครัว ด้วยเคล็ด ที่บอกเล่ากันต่อๆมา มองดูไม่งาม เพราะ ที่จริง คู่บ่าวสาว ก็ มีหน้าที่ พึงต้องปฎิบัติต่อกัน ตามประเพณี ไทยเราอยู่แล้ว การครองคู่ ที่ต่างยกย่องให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน ความเข้าอกเข้าใจกัน และความรักต่อกันต่างหาก ที่เป็นหัวใจของการครองเรือน
ใน การเซ่นไหว้ผี ก็ มี สอนอยู่แล้ว
เจ้าอย่าทำขัดข้อง จงปรนนิบัติผัวตน เมื่อเจ้าจะเข้านอน ไหว้พระสวดมนตร์ ถือศีลห้าเป็นต้น สวัสดีมีชัย เมื่อค่ำราตรี จงกราบสามี เป็นการดีแก่ตัว ฝ่ายผัวก็อย่าช้า เร่งให้พรเมีย ทั้งทรัพย์สินก็จะได้ เพิ่มไหลพูนมา............
บุคคลที่ ถือศีล ย่อมตั้งมั่น อยู่ในคุณงามความดี บาปบุญ คุณโทษ อยู่แล้ว ใช่ไหมคะ
ขอขอบคุณ เจ้าของงาน ที่มาของภาพ ทั้งหมดมา ณ. นี้ค่ะ





Ploypayoom@Copyright



No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.