...Auld Lang Syne...
Should auld acquaintance be forgot,
and never brought to mind ?
Should auld acquaintance be forgot,
and auld lang syne ?
(CHORUS)
For auld lang syne, my jo,
for auld lang syne,
we’ll tak a cup o’ kindness yet,
for auld lang syne.
And surely ye’ll be your pint-stowp !
and surely I’ll be mine !
And we’ll tak a cup o’ kindness yet,
for auld lang syne.
(CHORUS)
We twa hae run about the braes,
and pu’d the gowans fine ;
But we’ve wander’d mony a weary foot,
sin auld lang syne.
(CHORUS)
We twa hae paidl’d i' the burn,
frae morning sun till dine ;
But seas between us braid hae roar’d
sin auld lang syne.
(CHORUS)
And there’s a hand, my trusty fiere !
and gie's a hand o’ thine !
And we’ll tak a right gude-willy waught,
for auld lang syne.
(CHORUS)
-----------------------------
ลืมความคุ้นเคยเก่าก่อน
และไม่ได้จดจำไว้ในใจ หรือเปล่า?
ลืมความคุ้นเคยเก่าก่อน
และปล่อยให้มันผ่านเลยไป หรือเปล่า?
เพื่อคืนวันที่ได้ผันผ่านไป เพื่อนรัก
เพื่อคืนวันที่ได้ผันผ่านไป
เราจะหยิบแก้วแห่งความอาทรขึ้นมา
เพื่อคืนวันที่ได้ผันผ่านไป
เราสองเคยวิ่งเล่นบนเนินลาด
และเก็บดอกไม้สวยๆ ด้วยกัน
แต่เรากลับหลงทางบนเท้าที่เหนื่อยล้า
ตั้งแต่คืนวันที่ได้ผันผ่านไป
เราสองเคยย่ำไปบนน้ำค้าง
ตั้งแต่อรุณรุ่งจวบกระทั่งมื้อค่ำ
แต่ทะเลที่เราอยู่นั้น ได้ขู่คำราม
ตั้งแต่คืนวันที่ได้ผันผ่านไป
และก็มีมือของเพื่อนที่ฉันเชื่อมัน
และจงยื่นมือของคุณออกมา
และเราจะตั้งใจจริง ดื่มรวดเดียวให้หมด
เพื่อคืนวันที่ได้ผันผ่านไป
--------------------
ประวัติเพลง "Auld Lang Syne (โอลด์ แลง ซายน์)"
โดยต้นกำเนิด เพลงนี้แต่งขึ้นโดย โรเบิร์ต เบิร์นส์ ตั้งแต่สมัยปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งโรเบิร์ต เบิร์นส์ คนนี้เป็นกวี นักคิด นักประพันธ์เพลงคนสำคัญของสก็อตแลนด์ เพลงนี้เองเข้าก็หยิบยืมทำนองจากเพลงพื้นบ้านของสก็อตแลนด์มาดัดแปลง และในทีแรกนั้นเพลงนี้ยังไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเทศกาลปีใหม่เลย
โอลด์ แลงค์ ซายน์ (Auld Lang Syne) เป็นภาษาสก็อตแลนด์ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Old long Ago" หรือเป็นไทยคือ "เมื่อเนิ่นนานมา" เนื้อเพลง ๆ นี้ สามารถตีความได้ต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่ามันพูดถึงการให้ลืมสิ่งเก่าไปรับสิ่งใหม่ ๆ มา อีกฝ่ายที่ติดชาตินิยมหน่อยก็ว่าโรเบิร์ต เบิร์นส์ ผู้เป็นนักคิดคนสำคัญย่อมต้องแต่งเพลงนี้เพื่อพูดถึงอดีตอันเกรียงไกรของชาวสก็อตฯ ขณะที่ในปัจจุบัน คนที่ช่างสงสัยแบบ Skeptic ก็เริ่มเสนอว่า จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นเนื้อหาส่วนตัวของอีตาเบิร์นส์เอง คือเพลงนี้เขาแต่งเพื่อระบายความรู้สึกหวนหาอดีต คิดถึงเพื่อนเก่า คนรักเก่า วันเวลาเก่า ๆ ของเขาก็เท่านั้น
อย่างไรก็ดีเพลงนี้กลายเป็นเป็นเพลงเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของชาวสก็อตฯ (Hogmanay) และกลายเป็นเพลงปีใหม่ของอีกหลาย ๆ พื้นที่ในโลกเมื่อ Guy Lombardo นักดนตรีชาวแคนาดา เล่นเพลงนี้ในรายการวิทยุของอเมริกาช่วงรอยต่อระหว่างปี 1938-1939 แม้จนบัดนี้เพลงฉบับของ Guy ยังคงใช้เปิดเป็นเพลงแรกของปี เพื่อเฉลิมฉลองงานปีใหม่ที่ไทม์สแควร์
จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เนื้อเพลง โอลด์ แลงค์ ซายน์ ที่แพร่หลาย แต่เป็นเมโลดี้สุดติดหู (และถึงขั้นหลอนหู) ของมันต่างหาก
ในหลาย ๆ ประเทศเอาทำนองเพลงนี้ไปใช้ต่างโอกาสกัน ในไต้หวันใช้ทำนองเพลงนี้เปิดในวันจบการศึกษาและในงานศพ ที่ญี่ปุ่นก็เอาเพลงนี้มาแปลงเป็นเพลง Hotaru no Hikari (แสงหิ่งห้อย) ใช้ในงานพิธีจบการศึกษาเช่นกัน ส่วน รพินทรนารถ ฐากูร ปราชญ์วรรณกรรมชาวอินเดียเอาทำนองเพลงนี้มาแต่งเป็น "About the Old Days" ในไทยเองเพลงนี้ก็กลายมาเป็นเพลงแบบขวา ๆ อย่าง "สามัคคีชุมนุม" ที่ไม่แค่เอาทำนองเขามา แม้แต่พิธีการไขว้มือจับกันก็เอามาจากพิธีกรรมของชาวสก็อตฯ ด้วย
และล่าสุด ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้เอง ทำนองเพลง Auld Lang Syne ก็ถูกเปิดในพิธีสละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของผู้นำเผด็จการปากีสถาน เปอร์เวช มูชาร์ราฟ เพื่อที่เขาจะได้สืบทอดอำนาจทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ต่อไป ไม่รู้วิญญาณของตาโรเบิร์ต เบิร์นส์ รู้เข้าจะ "เซ็งสาดดด" ขนาดไหน เมื่อเพลงที่แต่งโดยนักคิดเสรีนิยม (Liberalism) เช่นเขาถูกเอาไปใช้ในพิธีกรรมของทหารเผด็จการซะแล้ว
จริง ๆ แล้ว ผมเห็นว่าเนื้อเพลงนี้แต่งได้ไพเราะมาก พอเห็นถูกเอาไปแปลงเป็นเพลงขวา ๆ มั่งล่ะ เอาไปใช่ในพิธีของเผด็จการบ้างล่ะ มันช่างฟังดูน่าหดหู่เหลือหลาย แม้จะแค่ชอบเนื้อเพลงต้นฉบับมันก็ยังชวนให้รู้สึกผิด
แต่ผมก็ได้ค้นพบว่าเพลง ๆ นี้มันไม่ได้มีแต่เอาไปใช้ในพิธีการ หรือเอาไปใช้อย่างขรึมขลังอย่างเดียว ในหมู่ศิลปินเพลงสมัยนิยมทั่ว ๆ ไปก็เอาเพลงนี้มาเล่นกันอย่างสนุกสนานบันเทิงใจ ซึ่งต้องขอบคุณพวกเขาที่ทำให้ผมฟังเพลงนี้ได้สนิทหูขึ้นมาหน่อย
นอกจาก Guy Lombardo ผู้ทำให้เพลง Auld Lang Syne กระฉ่อนไปทั่วโลกแล้ว ในช่วงรอยต่อของปี 1969-1970 มือกีต้าร์โลกันต์ Jimi Hendrix ได้เล่นเพลง Auld Lang Syne ในแบบฉบับ Blues-Rock ที่ The Fillmore East ซึ่งในช่วงนั้นดนตรี Rock กำลังเฟื่องฟู และรอยต่อของทศวรรษทั้งสองนี้ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของวงการดนตรี Rock เลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ยังมีฉบับเสียงประสานของวงป็อบอย่าง Beach Boys มีฉบับ Rock กลิ่นพื้นบ้านอเมริกันของ Bruce Springsteen and the E Street Band รวมถึงฉบับกีต้าร์โซโล่แปลกหู ที่ Guns ‘n' Roses เล่นไว้ใน Live at Leeds เมื่อปี 2002 ซึ่งหลังจากนั้น Buckethead มือกีต้าร์จอมเพี้ยนก็ได้โซโล่ต่อเป็นทำนองเพลงธีมหลักของ Star Wars
ไม่เพียงแค่การเล่นแบบ Cover เพลงนี้เท่านั้น บางทีเนื้อหาของเพลงนี้ก็ถูกนำไปใช้ในบริบทอื่น เช่นนักร้องโฟล์ค/ป็อบ Dan Fogelberg ที่เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปเมื่อวันที่ 17 ธันวา ปีนี้เอง ก็เคยแต่งเพลงที่ชื่อ Same Old Lang Syne ขึ้น เนื้อเพลงพูดถึงการได้พบเจอคนรักเก่าโดยบังเอิญในคืนคริสต์มาส แล้วเรื่องราวเก่า ๆ ก็หวนย้อนกลับมา
สำหรับผมแล้ว สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเสน่ห์ที่มาจากยุคเฟื่องฟูของศิลปะและวัฒนธรรมมวลชน ทำให้มีการนำสิ่งที่อยู่บนหิ้งมาตีความใหม่ มีทั้งการเล่นล้อและการแสดงความเคารพต้นฉบับอย่างเสรี
หลังจากวันที่ 31 ไป ปฏิทินเก่าจะหมดหน้าที่ปฏิทินใหม่มาแทน แต่ก็ยังเป็นเครื่องช่วยสมมุติเวลาเหมือนเดิม เพลง "สวัสดีปีใหม่" เพลงเดิมจะยังคงแว่วเสียงออกมาทางโทรทัศน์ให้ได้ยิน หลายที่ในโลกก็ร่วมบรรเลงท่วงทำนองเดิมของ Auld Lang Syne แต่ภายใต้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เราเห็นว่ามัน "เหมือนเดิม" ผมเชื่อว่ามันมี "การเติบโต" ของอะไรบางอย่างแฝงอยู่ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้และเติบโตนั้น มันคือศิลปะและวัฒนธรรมที่ไม่ได้ถูกแช่แข็ง ควบคุม หรือถูกกุมความหมายโดยคนเพียงบางกลุ่ม
มิเช่นนั้นแล้ว วันปีใหม่ที่ผู้คนเฝ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่า ๆ ไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่า ก็จะเหลือเพียงแค่การเปลี่ยนแปลง...ตัวเลขศักราชบนปฏิทินใหม่เท่านั้น
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.